วันนี้มาคุยเรื่องนวัตกรรมเกี่ยวกับยางพารากันดีกว่า ถึงแม้ราคายางตอนนี้ขยับตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อนพอสมควรแล้ว กิโลกรัมละเกือบ 90 บาท แต่เกษตรกรชาวสวนยาง ก็ใช่ว่าจะอยู่อย่างสุขสบายไร้กังวล เพราะยังมีปัญหาอมตะนิรันดร์กาลที่ต้องเจอในช่วงฝนตกอยู่ดี
สภาพภูมิอากาศบ้านเราอยู่เขตร้อนชื้น ทำให้มีฝนตกชุกต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ มีฝน 8 แดด 4 ฝนตกมากกว่าแดดออก พอชาวสวนไปกรีดยางแล้วเกิดฝนตก น้ำยางที่กรีดมาก็ไม่สามารถเอาไปขายได้ เพราะน้ำฝนจะเข้าไปผสมรวมกับน้ำยาง ทำให้ ค่าดีอาร์ซี (ค่าเนื้อยางในน้ำยาง) ต่ำกว่าปกติ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด
ชาวสวนยางทำได้อย่างเดียวคือตัดใจคว่ำถังเททิ้ง
ผลสำรวจความเสียหายจากปัญหาการทิ้งน้ำยางโดนฝน เฉพาะใน เขตภาคใต้ ของประเทศ พบว่ามีมูลค่าความเสียหายเฉลี่ย วันละ 2 แสนบาท หรือ ปีละ 73 ล้านบาท ถ้ารวมทั้งประเทศมูลค่าความเสียหายก็ตกปีละร้อยกว่าล้านบาท
อีกทั้งหากเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ชาวสวนยางก็ต้องหยุดกรีดยาง ต่อเนื่องทั้งสัปดาห์ ทำให้ สูญเสียรายได้ และ เสียโอกาส กรีดยาง ในฤดูกรีดยาง
แต่ตอนนี้มีนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้แล้ว ชื่อว่าสารจับยางไออาร์ (Innovation Rubber ; IR) เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนที่แล้วใน งานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2560 ที่มี คุณพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นโต้โผใหญ่ ในงานมีจัดโชว์ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเกี่ยวกับยางพาราหลายอย่าง แต่ไฮไลต์อยู่ที่สารจับยางไออาร์นี่แหละ เพราะช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวสวนยางเห็นผลชัดเจน
นวัตกรรมนี้เป็นผลงานของ ผศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนางานวิจัยและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและกระบวนการ บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งได้ จดสิทธิบัตร กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว
สารจับยางไออาร์ถูกคิดค้นขึ้นมาทดแทนน้ำกรดจับยางที่ใช้ในสวนยางทั่วไป มีคุณสมบัติในการแยกเนื้อยาง (Dry rubber content, DRC) ที่มีความเข้มข้นตํ่าออกจากนํ้ายางได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงแค่หยดสารจับยางไออาร์ผสมลงไปในน้ำยางพาราที่โดนฝน ในอัตราส่วน 1 ต่อ 50-150 แล้วคนให้เข้ากัน เพียงเดี๋ยวเดียวก็สามารถจับเนื้อยางได้ถึง 99.9% โดยใช้หลักการการจับยางด้วยประจุและดึงยางให้รวมตัวเป็นก้อน แค่นี้ชาวสวนยางก็นำยางพาราที่จับตัวเป็นยางก้อนไปจำหน่ายได้ทันที
นอกจากนี้สารจับยางไออาร์ยังใช้ได้กับนํ้ายางทุกประเภท ทั้งนํ้ายางสด นํ้ายางสดผสมแอมโมเนีย นํ้ายางข้น หางน้ำยาง น้ำยาง เจือจางที่เกิดจากการล้างอุปกรณ์ในโรงงานน้ำยาง
จากผลการวิจัยพบว่ายางที่จับเป็นก้อนด้วยสารจับยางไออาร์มีคุณสมบัติเชิงกล ค่าความหนืด และคุณสมบัติอื่นๆไม่แตกต่างจากการใช้น้ำกรดจับก้อน
ที่สำคัญราคาพอๆกับน้ำกรด หรืออาจจะสูงกว่า 10-15% เท่านั้น จึงถือเป็นนวัตกรรมช่วยลดความสูญเสียและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรชาวสวนยางได้เป็นอย่างดี.’>