“หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่” ชุมชนที่กลับมาหายใจอีกครั้งผ่านงาน Installation art
“สะง้อ” เส้นทางผ้าขาวม้าดารานาคี ลวดลายชีวิตจากโคลนลุ่มน้ำโขง
หากจะกล่าวถึงจังหวัดที่เป็นเมืองหลักในการเดินทางท่องเที่ยวทางภาคอีสานแล้ว เชื่อว่าจุดหมายปลายทางของใครหลายคนคงจะอยู่ที่จังหวัดใหญ่ๆ อย่างขอนแก่น บุรีรัมย์ หรือ อุดรธานี กันออย่างแน่นอน แต่สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ของเราจะไม่ได้อยู่ที่เมืองหลักใหญ่ที่กล่าวมาทั้งหมด แต่จุดหมายของการเดินทางสู่ดินแดนแห่งวัฒนธรรมของเราในครั้งนี้คือที่ จังหวัดบึงกาฬ
จังหวัดบึงกาฬนั้นถือเป็นจังหวัดที่เกิดขึ้นหลังสุดของภาคอีสานเลยก็ว่าได้ แต่ที่นี่กลับเต็มไปด้วยเรื่องราวของวัฒนธรรม ประเพณีและสินค้าทางหัตถกรรมผ้าทอที่ขึ้นชื่อและสวยงามมากทีเดียว เราเริ่มต้นการเดินทางสู่จังหวัดบึงกาฬด้วยจุดหมายแรกอยู่ที่ชุมชนเล็กๆ ในอำเภอโซ่พิสัย ที่นี่ยังคงมีความเก่าแก่ให้เราได้เห็นกันตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินเข้าสู่ชุมชน ด้วยบ้านเรือนที่ยังคงมีการใช้ไม้เป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง แต่ก็มีการตกแต่งด้วยโทนสีที่มองแล้วรู้สึกสดใส เปรียบเสมือนการต้อนรับนักท่องเที่ยวของชาวชุมชนแห่งนี้ ซึ่งภายในชุมชนนี้มีพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ซ่อนตัวอยู่ด้วย โดยใช้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต” สำหรับใครที่สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตแห่งนี้ก็สามารถเข้าชมได้ฟรี ไม่มีค่าบำรุงและดูแลรักษาสถานที่ ท่านละ 50 บ. เท่านั้น
ความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตนั้น ไม่เพียงแต่เราจะได้เดินชมความสวยงามแปลกตาของการใช้โทนสีเขียวสดใสมาผสานเข้ากับตัวบ้านไม้แบบเก่าเท่านั้น (ซึ่งก็เป็นจุดที่พลาดไม่ได้เลยที่จะหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายรูปกัน) แต่ภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีการตกแต่งภายในด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้แบบโบราณ, งานจักสาน, งานหัตถกรรมต่างๆ มาประดับตามจุดต่างๆ เพื่อให้เราเห็นถึงวิถีชีวิตของชาวชุมชน และงานฝีมือ ซึ่งเป็นอาชีพเสริมของชาวชุมชนแห่งนี้ด้วย นอกจากการเดินชมความสวยงามของการตกแต่งพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจแล้ว บางส่วนของภายนอกก็มีการตกแต่งตามกำแพงและสังกะสีด้วยงานศิลปะ ซึ่งเป็นภาพที่เหมือนจะดูเป็นภาพการ์ตูนสนุกๆ แต่แท้จริงแล้วมันแฝงด้วยเรื่องราวของชุมชนและวิถีชีวิตของผู้คนในจังหวัดบึงกาฬ ที่ผูกพันกับ “พญานาค” ใครที่มาถึงที่นี่แล้วก็อย่าพลาดที่จะเดินชมภาพวาดศิลปะบนผนังให้ครบทุกจุดกัน เรียกได้ว่าเป็นการนำเสนอเรื่องราวของวิถีชาวบ้านให้ออกมาในรูปแบบของศิลปะร่วมสมัย ถือเป็นการผสมผสานงานศิลปะที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวได้อย่างสมบูรณ์แบบทีเดียว
สถานที่เที่ยวแห่งใหม่นี้เพิ่งเปิดตัวไปได้ไม่นานเกิดจากการสร้างสรรค์งาน Installation Art โดย คุณสุทธิพงษ์ สุริยะ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ อาจารย์ขาบ ฟู้ดสไตลิสต์ชื่อดังของเมืองไทย
เวลาเปิด-ปิด : เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 09.00 – 17.00 น.
ที่นี่ยังมีบริการที่พักแบบ Homestay ไว้คอยให้บริการด้วยนะครับ เอาใจชาว Backpacker ที่ชอบมาใช้ชีวิตเนียนๆ แบบคนในชุมชน ใครชอบถ่ายดาวอาบลมหนาวต้องมาเลยครับ สามารถติดต่อได้ที่หมายเลข 08 6229 7626
Facebook fanpage. : facebook.com/LifeCommunityMuseumBuengkan/
เรือนไม้อีสานเก่าแก่ อายุกว่า 60 ปี ที่อยู่อาศัยกันมาหลายรุ่น ถูกนำมารีโนเวตใหม่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน โดยนำดีไซน์ที่อิงธรรมชาติเข้ามาใช้ ผสมผสานกับดีไซน์ร่วมสมัย ภายใต้คอนเซปต์ ธรรมะ-ธรรมชาติ-ธรรมดา และเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืนให้เข้าชมฟรีครับ
ด้านในก็จะมีเรื่องราวของชีวิตในแต่ละวันของอาจารย์ รวมถึงกลิ่นอายของงานศิลปะแนว installation art ไว้ทุกจุดเลย
มาที่รอบๆ ชุมชนก็จะเป็นงานกราฟิตี้ของพญานาคในแบบต่างๆ
เสพงานศิลป์แนว installation art กันไปแล้ว ต่อด้วยงานด้านหัตถศิลป์บนผืนผ้ากันเลยครับ เราก็มุ่งหน้ากันต่อสู่จุดหมายต่อไปคือชุมชนบ้านสะง้อ ซึ่งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ ที่นี่ขึ้นชื่อมากในเรื่องของการทอผ้า โดยใครที่มาเที่ยวในจังหวัดบึงกาฬไม่ควรพลาดที่จะมาเยี่ยมชมชาวชุมชนบ้านสะง้อแห่งนี้ การเดินทางไม่ยากเลย ขับต่อมาอีกนิดตามเส้น 212 ครับ เราจะพาคุณไปอินกับเรื่องราวของผ้าขาวม้าดารานาคี ของชาวสะง้อครับ
การเดินทางของผ้าขาวม้าดารานาคี ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของผู้คน ผ่านร้อน ผ่านหนาว ล้มลุกคลุกคลานมากว่า 2 ทศวรรษกว่าจะได้พบกับตัวตนที่ใช่ และพร้อมที่จะสร้างความภูมิใจให้กับคน 3 รุ่นแห่งสะง้อ
ผมกำลังจะพาคุณไปรู้จักการเดินทางของผ้าขาวม้าจากชุมชนริมฝั่งโขงที่กว่าจะเป็นที่รู้จักของคนในปัจจุบัน จะต้องผ่านกระบวนการต่างๆ มามากมาย ไม่ใช่เพียงแค่ขึ้นกี่ หมัก ย้อม ทอ แต่มันคือ การใส่ชีวิตของผู้รับผิดชอบในกระบวนการนั้นๆ ลงไปในแต่ละขั้นตอนด้วย ซึ่งทำให้เรารู้ว่ากว่าที่เราจะได้ผ้าขาวม้ามา 1 ผืน มันผ่านอะไรมาบ้าง
เราได้มีโอกาสคุยกับผู้นำชุมชนสะง้อสายเลือดใหม่อย่าง น้องแยม อินทิรา สุพัตรา แสงกองมี ที่ตัดสินใจกลับบ้านเพื่อต่อลมหายใจของคนในชุมชน และของครอบครัวที่ดำเนินธุรกิจสินค้างานหัตถกรรมชาวบ้านมากว่า 2 ทศวรรษ
น้องแยมเล่าให้ฟังว่ากว่าจะผ่านมาถึงวันนี้ เมื่อก่อนผ้าขาวม้าดารานาคี ก็ยังไม่ได้มีชื่อแบบนี้ ยังคงเป็นผ้าขาวม้าธรรมดาที่ใช้กระบวนการย้อมทางเคมีมาโดยตลอด คุณพ่อของเธอมีหน้าที่รับผ้าขาวม้าจากคนในชุมชนไปขายตามงานแสดงสินค้าต่างๆ ยิ่งขายก็ยิ่งขาดทุน น้องแยมกับครอบครัวเริ่มวิตกและเริ่มหาต้นตอของปัญหาว่าทำไมสินค้าของตัวเองถึงขายไม่ได้ จนพบว่า เป็นเพราะสินค้าของตัวเองไม่มีความแตกต่าง หาเอกลักษณ์ของความเป็นสะง้อไม่ได้เลย เพราะคนซื้อก็จะมองแค่ “มันคือผ้าขาวม้า” ไง แค่นั้น เลยตั้งเป้าว่า เราต้อง “ฝากลายเซ็น” ของคนสะง้อลงบนผ้าขาวผ้านี้ให้ได้
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย เริ่มตั้งแต่คนในครอบครัวของน้องแยมเองที่ถูกปลูกฝังให้ทำเเต่สิ่งเดิมๆ และเชื่อว่ามันดีอยู่แล้ว แต่น้องแยมและคุณแม่ก็ยอมดื้อทำ และเริ่มลงมือเปลี่ยนแปลงผ้าขาวม้าเคมี สู่กระบวนการ “ผ้าขาวม้าออร์แกนิกส์ ดารานาคี” ที่มาของชื่อดารานาคีนั้นมาจากชื่อของคุณพ่อของน้องแยม คือ คุณดารา และนาคี ก็หมายถึงองค์พญานาคแห่งลุ่มน้ำโขงนั่นเอง
เพียงแค่ชื่อแบรนด์ และการทำผ้าขาวม้าแบบออร์แกนิกส์นั้นไม่ได้บ่งบอกว่านี่คือผลิตผลทางหัตถศิลป์ของชาวสะง้อได้เลย น้องแยมก็คิดต่อไปอีกว่า การที่จะทำให้ผ้าขาวม้าธรรมดามันมีอะไรที่ทำให้คนจดจำมันได้บ้าง เลยนึกได้ว่าคนจะเลือกซื้อผ้าเพราะ “ลาย” บนผ้านั่นเอง ลายแรกคือ ลายท่านผู้ว่า ซึ่ในตอนนั้นท่านผู้ว่า จ.บึงกาฬ ได้มาเยี่ยมที่ชุมชน และได้ให้คำแนะนำว่า ถ้าทำให้ผ้าขาวม้านุ่มกว่านี้จะช่วยให้คนใส่รู้สึกสบายขึ้น ผ้าขาวม้าดารานาคีหูบแรกจึงได้กำเนิดขึ้นในวันที่ 2 มีนาคม 2560 กระบวนการทางธรรมชาติที่นำมาใช้ในการย้อมสีนั้นเกิดจากการสังเกตสีของพันธุ์ไม้ในชุมชน ซึ่งปกติแล้วบรรดาเปลือกแข็งเมื่อนำมาต้มก็จะได้สีธรรมชาติจากเปลือกไม้มาด้วย สำหรับไม้ในชุมชนที่นำมาใช้ก็จะมี หมากค้อเขียว ชมพู่มาเหมี่ยว และคูณราชพฤกษ์ ทั้งหมดนี้สามารถหาได้ในชุมชนเลย
เมื่อได้สีที่ใช้ในการย้อมเเล้ว จากที่ได้รับคำแนะนำจากท่านผู้ว่าเรื่องให้ทำให้ผ้านุ่มขึ้น น้องแยมก็ตั้งข้อสังเกตจากชุดของชาวนาที่มีโคลนติด พอใช้งานไปเรื่อยๆ ชายผ้าก็จะอ่อนนุ่ม และขาด จึงได้นำโคลนในนามาลองหมักดู ซึ่งก็ได้ผล ผ้าที่นำไปหมักโคลนนั้นจะนุ่มขึ้น และแถมได้สีของโคลนแบบมินิมอลตามสไลต์นิยมติดมาด้วย
กระบวนการต่อไปคือการทอ และลายแรกที่มีการทอคือ “ลายท่านผู้ว่า” ซึ่งเป็นการแหกกฎการตั้งความถี่ของการทอลาย จากปกติผ้าขาวม้าจะมีการวางช่องลายเท่าๆ กัน เช่น 2-2-2 แต่ผู้ค้นหูก (คิดลาย) ตั้งลายแบบใหม่เลยคือ 5-4-3-2-1 ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ แต่เราต้องไม่ลืมว่าการที่จะปรับสิ่งใหม่ให้คนรุ่นก่อนๆ ทำได้นั้นมันต้องอาศัยเวลาเป็นอย่างมากที่จะผลิตผลงานชิ้นหนึ่งออกมา และในที่สุดก็ได้ลายท่านผู้ว่าออกมา หลังจากนั้นผ้าดารานาคีก็มีลวดลายออกสู่ตลาดตามมาอีก 4 ลาย ลายสองฝั่งโขง มีที่มาจากน้ำหมากของคุณยายที่กระเด็นตอนที่ทำผ้า สิ่งที่ได้คือสีน้ำตาลเข้ม จึงได้นำปูนขาวมาใช้ในการหมักผ้าด้วย จึงเป็นที่มาของลายนี้
ลายตากับยาย มีแรงบันดาลใจมาจากลายผ้าขาวม้าของคุณตา และลายผ้ามัดหมี่ของคุณยาย เมื่อเอาลายทั้งสองมารวมกันจึงออกมาเป็นลายตากับยาย
ลายปทุมทิพย์ คือลายที่เกิดจากความภูมิใจของคนในชุมชน ที่ต้องการใส่ไอเดียของตัวเองลงไปในหูกด้วย โดยชื่อปทุม มาจาก ยายทุม และทิพย์ มาจากยายทิพท์ ซึ่งทั้งสองท่านนี้อยากใส่ความเป็นตัวเองลงไปในผ้าด้วย
ลายนิมิต เกิดจากลวดลายของฐานเจดีย์ที่วัดโพธิ์ชัยนิมิต วัดประจำหมู่บ้าน มีเรื่องที่แปลกคือ ลายผ้านี้เหมือนกับลายภาพวาดบนฝาผนังของวัดเกลาณียา ที่ประเทศศรีลังกาด้วย
และลายสุดท้าย ลายรุ่งโรจน์ เกิดจากในช่วงที่ผ้าดารานาคีตั้งไข่ใหม่ๆ มี ผอ.รุ่งโรจน์ จิตรัตร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหรรมภาค 4 จ.อุดรธานี สะดุดตากับผ้าของดารานาคี และได้ให้คำแนะนำ และสนับสนุนในด้านงานวิจัยและพัฒนาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ชุมชนสะง้อจึงทอลายพิเศษนี้ออกมาเพื่อขอบคุณ ผอ.รุ่งโรจน์ และขอใช้ชื่อว่า “ลายรุ่งโรจน์”
การเดินทางของผ้าขาวม้าดารานาคีไม่เพียงแค่เดินทางมาจบที่คนในยุคนี้ แต่เป็นการเดินทางร่วมกันของคนถึง 3 รุ่น โดยที่มีการใช้ความชำนาญของคนแต่ละรุ่นส่งต่อกันไปเรื่อยๆ แต่ทุกคนจะต้องรู้ และเข้าใจถึงกระบวนการการผลิตงานหัตศิลป์ทรงคุณค่า ที่สามารถทำให้ชุมชน และธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีข้อขัดแย้งระหว่างกัน
หากคุณมีโอกาสได้มาเที่ยวเส้นอีสาน บึงกาฬ คืออีกหนึ่งจังหวัด ที่คุณสามารถหยุดเวลาและใช้เวลาเสพงานศิลป์สองยุคได้อย่างมีอรรถรสเลยล่ะครับ ผมเชื่อว่าเมื่อมีคนพูดถึงบึงกาฬ คุณจะอยากเล่าเรื่องเส้นทางของงานศิลป์ให้เพื่อนสายชิลได้ฟังทันทีเลยล่ะ
สำหรับที่พัก บางท่านอาจรู้สึกว่าน่าจะเป็นเรื่องยากที่จะหาที่พักในบึงกาฬ คุณสามารถหาที่พักได้จากเว็บไซต์จองที่พักได้เลยครับ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในเมือง ขับรถต่อไปอีกประมาณ 30 กม.ครับ หรืออาจจะเลือกเที่ยวทั้งสองที่ แล้วไปนอนที่หนองคาย แล้วเที่ยวต่อได้เลยครับ
การเดินทางไปบึงกาฬ สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย โดยต้องบินไปลงที่สนามบินอุดรธานี และขับรถต่อไปยังเส้นทางหนองคาย และเข้าไปยังบึงกาฬ เกาะถนนเส้นหลักคือ 212 ครับ
ปัจจุบันมีสายการบินที่ให้บริการบินตรงสู่อุดรถึง 4 สายการบิน
Thai Smile Airways บินตรงจากสุวรรณภูมิ วันละ 5 เที่ยวบิน
Thai Air Asia บินตรงจากดอนเมืองวันละ 5 เที่ยวบิน
Nok Air บินตรงจากดอนเมืองวันละ 6 เที่ยวบิน
และ Thai Lion Air บินตรงจากดอนเมืองวันละ 6 เที่ยวบิน
สินค้าที่น่าซื้อกลับบ้านคงหนีไม่พ้นงานผ้าต่างๆ ครับ โดยเฉพาะผ้าย้อมโคลน ดารานาคี ของดีคู่จังหวัดบึงกาฬ และลูกหยียักษ์ ครับ
บึงกาฬ แม้จะเป็นจังหวัดเปิดใหม่ แต่ในความจริงแล้วเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวมาโดยตลอด เมื่อเเยกตัวออกมาเป็นจังหวัดจึงทำให้ต้องหาเอกลักษณ์ให้กับตัวเอง หากตอนนี้คุณกำลังมองหาเส้นทางท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของผู้คนที่มีความผูกพันธ์กับสายน้ำโขง บึงกาฬคืออีกหนึ่งเส้นทางที่คุณต้องหันกลับมาลองไปเยือนดูสักครั้งนะครับ
เที่ยวเมืองรอง…น่าลองกว่าเดิม
“บึงกาฬ” ต้องลองแล้วจะอิน
ขอขอบคุณที่มาบทความข่าว ไทยรัฐออนไลน์ https://www.thairath.co.th/content/1421380
‘>