งานวันยางพาราบึงกาฬ จัดส่งท้ายปีโชว์โมเดล2020 – เพราะกำลังจะก้าวเข้าสู่ปี 2563 จังหวัดบึงกาฬจึงจัดงานในชื่อ “งานวันยางพาราบึงกาฬ 2563 : บึงกาฬโมเดล 2020” วันที่ 12-18 ธ.ค.2562 ที่สนามหน้าที่ว่าการอ.เมือง จ.บึงกาฬ ภายใต้แนวคิด “บึงกาฬโมเดล 2020”
งานนี้นอกจากจะเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหายางพารา ยังเป็นต้นแบบที่นำไปสู่การพัฒนาเมือง เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และพร้อมก้าวสู่ “สมาร์ตซิตี้” เมืองที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบ เช่น สาธารณูปโภค ถนนหนทาง การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 การก่อสร้างสนามบิน ฯลฯ โดยมีการบริหารจัดการ สิ่งแวดล้อม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในยุค 4.0
นายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ คนที่ 9 กล่าวว่า จังหวัดบึงกาฬ เป็นจังหวัดที่ได้รับการจัดตั้งใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งรัดการพัฒนาในหลายๆ ด้านไปพร้อมกันเพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองเศรษฐกิจชายแดนอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ จึงวางแนวทางการพัฒนาจังหวัดบึงกาฬตามนโยบายรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามแนวทาง 3 สร้าง ดังนี้
1.การสร้างเมือง : เร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูป โภคเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมือง เช่น การวางผังเมืองให้เหมาะสมกับ การก่อสร้างตึกอาคารพาณิชย์และสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ ให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาจังหวัดในอนาคต
การพัฒนาโครงข่ายเส้นทางคมนาคมขนส่งภายในจังหวัดให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โครงการตัดถนนเส้นใหม่วิ่งตรงระหว่างจังหวัดอุดรธานี-จังหวัดบึงกาฬ เพื่อร่นระยะทางการเดินทาง การเตรียมก่อสร้างสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-ปากซัน) เพื่อเชื่อมโยงการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน การศึกษาและเตรียมพื้นที่สำหรับการก่อสร้างสนามบินบึงกาฬ และการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสัญลักษณ์ของเมือง และศูนย์กลางการค้าเพื่อการท่องเที่ยวชายแดนแห่งลุ่มน้ำโขง เป็นต้น
2.การสร้างคน : พัฒนาคนหรือการพัฒนาทุนมนุษย์ทุกช่วงวัยให้เป็นคนเก่ง คนดี มีคุณภาพทั้งทางด้านสุขภาพ (Health) จิตใจ (Heart) ที่ดีงาม องค์ความรู้ และปัญญาที่เฉียบแหลม (Head) และมีทักษะความเชี่ยวชาญ (Hand) ในการประกอบอาชีพที่เหมาะสม
มีความทันโลก ทันเทคโนโลยี และอยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิ จังหวัดบึงกาฬจะพัฒนาคนทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน เช่น การจัดอบรม สัมมนา ศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพิ่มศักยภาพของประชาชน เพื่อให้ประชาชนของจังหวัดบึงกาฬเป็น คนดี คนเก่ง มีคุณภาพ มีระเบียบวินัย มีจิตใจที่เป็นสาธารณะ และมีการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับศักยภาพตนเองและครอบครัว
3.การสร้างรายได้ : เมื่อจังหวัดบึงกาฬพัฒนาคนให้เป็นคนเก่ง คนดี มีคุณภาพแล้วสิ่งจะตามมา คือ การสร้างงาน สร้างรายได้ จากอาชีพที่เหมาะสมกับศักยภาพของประชาชน ประชาชนส่วนใหญ่ของจังหวัดบึงกาฬมีรายได้หลักจากภาคการเกษตรโดยจังหวัดบึงกาฬจะสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในภาคการเกษตรให้มีรายได้สูงขึ้น โดยใช้ต้นทุนจากการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำอุปโภคและบริโภคได้ตลอดทั้งปี
พัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ใช้ตลาดนำการผลิต พัฒนาเกษตรกรจากผู้ผลิตมาเป็นผู้ประกอบการทางการเกษตรสมัยใหม่ (Smart Farmer) มีการบริหารจัดการที่ดี ต้นทุนการผลิตต่ำ มูลค่าทางการเกษตรสูง และทำให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจน นอกจากนี้จังหวัดบึงกาฬยังจะมีการพัฒนาเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชนจากนอกภาคการเกษตรอีกด้วย เช่น การพัฒนายกระดับการพัฒนาสินค้า/ผลิตภัณฑ์โอท็อป และหรือสินค้าผลิตภัณฑ์เด่นของหมู่บ้าน/ชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนด้วยต้นทุนทางธรรมชาติของจังหวัดที่สวยงาม โดยการนำความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและยกระดับสินค้า/ผลิต ภัณฑ์และการท่องเที่ยวให้มีมูลค่าและประชาชนมีรายได้สูงขึ้นอีกด้วย
ประเด็นที่น่าสนใจคือบึงกาฬเคยได้รับรางวัลเมืองสะอาดระดับประเทศ ผู้ว่าราชการกล่าวถึงการจัดการขยะว่า จังหวัดบึงกาฬ มีทั้งหมด 8 อำเภอ 53 ตำบล 59 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (18 เทศบาล/41 อบต.) และ 1 องค์การบริหารส่วนจังหวัด รวม 617 หมู่บ้าน มีปริมาณขยะที่เกิดขึ้น 402 ตัน/วัน หรือ 146,730 ตัน/ปี มีสถานที่กำจัดขยะ 24 แห่ง ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล 2 แห่ง คือ เทศบาลตำบลศรีพนา และเทศบาลตำบลบึงกาฬ มีการกำจัดขยะที่ถูกหลักสุขาภิบาล 43 ตัน/วัน ร้อยละ 10 และนำไปใช้ประโยชน์ (จัดการขยะต้นทาง/อื่นๆ) 310 ตัน/วัน ร้อยละ 77.06 ขยะได้รับการจัดการที่ถูกต้อง ร้อยละ 87
ปี 2560 จังหวัดบึงกาฬได้รับรางวัลจังหวัดที่มีผลการปฏิบัติงานด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนดีเด่นระดับกลุ่มจังหวัด และปี 2561 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จังหวัดที่มีการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนจังหวัดสะอาดระดับกลุ่มจังหวัดขนาดเล็ก การจัดการขยะต้นทาง โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของ อปท./ประชาชนในพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน
ปี 2562-2563 มีการขับเคลื่อนและต่อ ยอดกิจกรรมการจัดการขยะต้นทาง และขอใบรับรองกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจก กับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก โดยให้ อปท.ทุกแห่งเข้าร่วม ขอการรับรองกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกและผลักดันสนับสนุนกิจกรรม Eco school สถานศึกษาในสังกัดทุกแห่ง
การดำเนินงานที่ผ่านมาของจังหวัดมีปัจจัยที่สนับสนุน “จังหวัดสะอาด” ตามแนวทาง 3Rs ตามแนวทางประชารัฐ การลดขยะจากครัวเรือน (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการปัญหา จนมีผลทำให้จังหวัดบึงกาฬได้รับรางวัลตามที่กล่าว
มาถึงเรื่องยางพารา เมื่อถามผู้ว่าฯ บึงกาฬถึงผลกระทบจากราคายางตกต่ำมีผลกระทบกับค่าดัชนีความสุขของคนบึงกาฬหรือไม่ มีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร
ผู้ว่าฯ สนิทกล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 27 สิงหาคม 2562 และ 15 ตุลาคม 2562 อนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2562/2563 ตามที่กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์เสนอ จำนวน 4 โครงการ
ในจำนวนนี้เกี่ยวข้องกับเกษตรกร ผู้ปลูกยางพารา จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 1 กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรชาวสวนยางพารา (เจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำและคนกรีด) ที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย และเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้วรายละไม่เกิน 25 ไร่ ช่วยเหลือเงินค่าประกันรายได้ในแต่ละเดือน
ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กิโลกรัม ดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562-เดือนกันยายน 2563 ประกันรายได้ระยะที่ 1 เป็นเวลา 6 เดือน (ตุลาคม 2562-มีนาคม 2563) แบ่งจ่ายเป็น 3 งวด ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 มีการโอนเงินให้เกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดบึงกาฬแล้ว จำนวน 30,718 ราย จำนวนเงิน 197,842,852 บาท
นอกจากนี้จังหวัดบึงกาฬได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการปลูกยางพาราของเกษตรกรโดยการกำหนดบรรจุไว้ในแผนพัฒนาจังหวัด ปี 2561-2565
เริ่มจากการส่งเสริมและพัฒนาภาคการผลิตยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า และการแปรรูปให้เกิดผลิตภัณฑ์ในเชิงอุตสาหกรรมโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพัฒนาผลผลิตได้ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ได้ราคาสูงขึ้นโดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการผลิตที่ทันสมัย มาใช้ในการพัฒนา เช่น การบริหารจัดการน้ำ การปรับปรุงคุณภาพดินให้เหมาะสม การส่งเสริมการผลิต ส่งเสริมการแปรรูปและเพิ่มมูลค่า ส่งเสริมการตลาด (การจัดงานวันยางพาราจังหวัด) การลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต เช่น โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ (ยางพารา) ปัจจุบันมีจำนวน 45 แปลง สมาชิก 2,120 ราย พื้นที่ 31,141.50 ไร่ เป็นต้น
สําหรับเกษตรด้านอื่นๆ บรรจุไว้ในแผนพัฒนาจังหวัด ปี 2561-2565 ส่งเสริมและพัฒนาภาคการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่า เพื่อให้เกษตรกรผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรให้มีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาดและมีราคาสูง
เช่น การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร การส่งเสริมสนับสนุนปัจจัยการผลิต การให้ความรู้การทำเกษตรอินทรีย์อย่างครบวงจร การพัฒนาศูนย์เรียนรู้เกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ให้ได้มาตรฐานส่งเสริมการปลูกพืช/สัตว์เศรษฐกิจทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกร (การปลูกผลไม้/การเลี้ยงสัตว์ในสวนยาง) การลดต้นทุนปัจจัยการผลิต ทำน้อย ได้มาก เช่น โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (ข้าว/ โคเนื้อ) เป็นต้น
ที่พลาดไม่ได้คือบึงกาฬมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม ผู้ว่าฯ สนิทกล่าวว่า จังหวัดบึงกาฬมีความหลากหลายด้านการท่องเที่ยวทั้งในด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม จึงได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่นอกเหนือจากรายได้หลักจากภาคการเกษตร
โดยกำหนดบรรจุไว้ในแผนพัฒนาจังหวัด ปี 2561-2565 ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวในทุกมิติทั้งในเชิงนิเวศ เชิงวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีอารยธรรมลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชนและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวของจังหวัด
เช่น การพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว (สะดวก สะอาด ปลอดภัย) การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชน การพัฒนาและยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการเพื่อการท่องเที่ยว และการบูรณาการความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกับจังหวัดในกลุ่มและประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
จึงขอเชิญชวนผู้สนใจไปเที่ยวชมความงดงามของธรรมชาติบึงกาฬ และการบริหารจัดการของคนในจังหวัดที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ เกษตรกร และผู้คนหลากหลายอาชีพที่ไปเที่ยวงานวันยางพาราบึงกาฬ 2563 วันที่ 12-18 ธ.ค.นี้
ชอชขอบคุณภาพบทความโดย นิธิศักดิ์ เศรษฐแสงศรี https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_3120114
‘>