แรงศรัทธา ที่ภูทอก
บึงกาน บึงกาญจน์ บึงกาฬ บึงน้ำขนาดใหญ่ที่เดิมชาวบ้านเรียกขานว่า “บึงกาน” จากภาษาอีสานแปลคำ “กาน” นี้ว่า กั้น หรือดัก หรือขวาง เนื่องจากบึงกาฬเป็นบึงขนาดใหญ่ที่กั้นตำบลบึงกาฬเอาไว้ตลอดแนว
ต่อมามีการเขียน “บึงกาน” เป็น “บึงกาญจน์” ตามชื่อของ “ขุนกาญจน์” ผู้นำสมัยนั้นและเห็นว่าคำพ้องเสียงมีความหมายดีกว่า แต่การเปลี่ยนจาก “บึงกาญจน์” เป็น “บึงกาฬ” ไม่มีหลักฐาน แต่น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากการตั้งเมืองกาฬสินธุ์ เพราะคำว่า “กาฬ” ภาษาอีสานมีความหมายว่า เป็นเมืองที่มีดินดำน้ำชุ่ม
หากมอง “บึงกาฬ” ในอีกนัยหนึ่ง บึงกาฬเป็นบึงน้ำสีดำเพราะดินบึงกาฬเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีพืชน้ำประเภทสาหร่ายข้าวเหนียวและหญ้าต่างๆ ทำให้ภาพสะท้อนออกมาเป็นน้ำสีดำ จึงเรียกกันต่อมาว่า “บึงกาฬ”
แต่ไม่ว่า “บึงกาฬ” จะถูกจัดสรรให้สะกดด้วยอักษรใดจากมนุษย์ สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่คือความงดงามอันพิสุทธิ์ของผืนนครแห่งนี้ ความงามที่แฝงเร้นในทุกอณูอารยะ อันหมายถึง สายธารแห่งธรรมชาติ สายธารแห่งอารยธรรม สายธารแห่งประเพณีที่สืบทอดอย่างมั่นคง…ยาวนาน
เมื่อได้รับทราบถึงการนำคณะสื่อมวลชนและผู้ประกอบการเดินทางสำรวจแหล่งท่องเที่ยว เส้นทางอุดรธานี-บึงกาฬ จาก คุณเอ-สมฤดี ชาญชัย ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะปฏิเสธการได้มุ่งหน้าสู่แหล่งอารยะเพื่อร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ในการเยือน “นครบึงกาฬ” หนึ่งในนครของภาคอีสานแหล่งเรียนรู้ อู่อารยธรรม ที่น่าสนใจครั้งนี้
การเดินทางเริ่มขึ้นด้วยสายการบินแอร์เอเชียในช่วงสายของวันครึ้มฝน เพียงหนึ่งชั่วโมงก็ถึงจุดหมายปลายทางที่จังหวัดอุดรธานี โดยมีคณะเจ้าหน้าที่จากททท.หนองคายและอุดรธานีรอรับ ก่อนจะขยับขึ้นรถตู้ต่อไปยังบึงกาฬ ใช้เวลาเดินทางอีกสองชั่วโมงกว่า
จุดหมายแรกของวันนี้ คือ “ภูทอก” ภาษาอีสานแปลว่า โดดเดี่ยว เป็นภูเขาหินทรายประกอบด้วยภูทอกใหญ่ และภูทอกน้อย ตั้งอยู่ในเขตบ้านคำแคน ตำบลนาสะแบง พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ เข้ามาจัดตั้งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม
รถตู้ลอดซุ้มประตูทางเข้ามาจอดนิ่งสงบกลางลานวัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) ภูทอกน้อยจุดเริ่มต้นของการเดินเท้าขึ้นสู่ยอดภู โดยเดินไปตามสะพานไม้เวียนรอบเขาสูงชันจนถึงยอด
“ช่วงนี้ฝนตกทุกวัน อาจจะขึ้นยาก หรือหากหนักมากอาจขึ้นไม่ได้ คงต้องลองดูสภาพอากาศก่อน แต่ถ้ามาถึงบึงกาฬ ภูทอก เป็นสถานที่ที่ไม่ควรพลาด” พี่หมู-เกียรติพงษ์ คชวงษ์ ผู้ช่วยผอ.ททท.สำนักงานอุดรธานี เอ่ยพลางส่งเสื้อกันฝนหลากสีให้กับผู้มาเยือนได้เตรียมพร้อม โชคดีเป็นของฉันที่วันนี้ฝนตกเพียงปรอยๆ ไม่หนาเม็ดเท่าใดนัก
“สะพานไม้นี้สร้างปี 2512 ใช้เวลาสร้างนานถึง 5 ปี จากแรงศรัทธาของพระ เณร และชาวบ้าน….” และอีกหลายเรื่องเล่าที่ได้ยิน สลับกับการปีนป่ายทางขึ้นเขาก่อนถึงบันไดไม้อย่างระวัง หยดฝนเริ่มหนาเม็ด ฉันกระชับเสื้อกันฝนปกป้องกล้องและเลนส์หลายขนาด
“สร้างได้ไงเนี่ย ?” ฉันแอบคิดเมื่อเดินขึ้นมาได้ครึ่งทาง
ราวกับได้ยินความคิด พี่หมูเล่าต่อเมื่อก้าวขึ้นสู่ชั้นที่ 4 “บันไดที่ขึ้นสู่ยอดภูทอกเปรียบเสมือนเส้นทางธรรมที่น้อมนำสัตบุรุษให้พ้นโลกแห่งโลกียะสู่โลกแห่งการหลุดพ้นด้วยความเพียรพยายามและมุ่งมั่น ที่นี่เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและปฏิบัติศาสนกิจของชุมชน”
บันไดขึ้นภูทอกแบ่งเป็น 7 ชั้น ชั้นที่ 1-2 เป็นบันไดสู่ชั้นที่ 3 เริ่มเป็นสะพานเวียนรอบเขา สภาพเป็นป่าเขาครึ้ม มีโขดหิน ลานหิน ชั้นที่ 4 เป็นสะพานลอยเวียนรอบเขา มองไปเบื้องล่างจะเห็นเนินเขาเตี้ยๆสลับกัน เรียกว่า ดงชมพู ชั้นที่ 5 มีศาลาและกุฏิที่อาศัยของพระ ตามช่องทางเดินจะมีถ้ำหลายถ้ำ ตลอดเส้นทางสู่ชั้นที่ 6 มีที่พักเป็นลานกว้างหลายแห่ง มีหน้าผาต่างๆ หากมองทางด้านเหนือสะพานหินธรรมชาติทอดสู่พระวิหาร อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มองออกไปจะเห็นแนวของภูทอกใหญ่อย่างชัดเจน
ผู้คนส่วนใหญ่มักหยุดการเดินทางเพียงแค่นี้ เพราะจากชั้นที่ 6 สู่ ชั้นที่ 7 เป็นสะพานไม้ยาว 400 เมตร เวียนรอบเขาซึ่งเป็นหน้าผาสูงชัน สุดทางที่ชั้น 7 เป็นป่าไม้ร่มครึ้ม
อิ่มเอมท่ามกลางกระไอหมอกของสายฝนหนาหนักที่ยอดภู ฉันและเพื่อนร่วมทางติดอยู่ด้านบนพักใหญ่ ปลดปล่อยความคิดคละฟุ้ง แว่บนึกถึงสะพานไม้ที่ทอดยาวข้ามลำน้ำสู่วัดวังก์วิเวการาม ที่สังขละบุรี กาญจนบุรี นี่กระมังที่ตอกย้ำความรู้สึกที่ว่า ไม่มีแรงใดยิ่งใหญ่เท่าแรงศรัทธา
แล้วค่ำแรกของการเยือนบึงกาฬก็จบลง ก่อนจะกลับเข้าที่พักเพื่อออมแรงไว้สำหรับการลุยแหล่งน้ำตกถึง 3 ที่ในวันรุ่ง
มหัศจรรย์ 3 น้ำตกกับรองเท้าบู้ทยาง
เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากการลื่นไถลเพราะสภาพพื้นที่ที่ชุ่มด้วยน้ำฝนเมื่อค่ำวาน ก่อนจะออกเดินทางไปสำรวจและเก็บข้อมูลน้ำตกที่ต่างๆ เช้านี้เจ้าถิ่นพาคณะมุ่งหน้าสู่ตลาดกลางเมือง เพื่อจัดหารองเท้าบู้ทยาง หงายดูพื้นเห็นรอยหยักกันลื่น สีสันสดสวยเลือกตามแต่ใจ เขียว ส้ม ชมพู ฟ้า สะดุดตาจนแอบกรี๊ด การสำรวจและเก็บข้อมูลในวันที่สองจึงดูคึกคักเป็นอย่างยิ่ง
“วันนี้เราจะไปที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะนำทางขึ้นสู่น้ำตกชะแนนค่ะ” คุณมด เจ้าหน้าที่จากททท.หนองคายที่ร่างไม่มดเท่าใดนัก เกริ่นให้ฟัง
จากข้อมูลบอกว่า น้ำตกชะแนน อยู่ที่บ้านภูเงิน อำเภอเซกา เดิมชื่อน้ำตกตาดสะแนน ตาดแปลว่า ที่ซึ่งมีน้ำไหล สะแนนมีความหมายว่า สูงสุดยอด หรือเยี่ยมยอด เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีน้ำเฉพาะฤดูฝน ระหว่างทางจะผ่านสะพานหิน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น้ำลอดหายไปใต้สะพานหินที่มีความยาวประมาณ 100 เมตร
การเดินไปชั้นที่สองของน้ำตกชะแนน จะผ่านแนวลำธารที่เต็มไปด้วยโขดหิน เดินตามลำธารทางชายฝั่งด้านซ้ายมือ จนถึงทางออกที่ลานกว้างริมแอ่งน้ำใหญ่ เหนือแอ่งน้ำขึ้นไปเป็นน้ำตกเตี้ยๆ ไหลลงสู่แอ่ง เรียกกันว่า น้ำตกบึงจระเข้
ด้วยเพราะเจ้าอุปกรณ์สำคัญต่างๆ ที่ต้องนำขึ้นมาเพื่อบันทึกภาพ ทำเอาการปีนป่ายทุลักทุเลพอสมควร บางช่วงเจ้าหน้าที่ป่าไม้ต้องคอยคุมเส้นทางและคอยดูแลสามถึงสี่คน โดยเฉพาะช่วงหุบโขดเนินเขาผ่านธารน้ำไหล บ้างต้องใช้ก้นค่อยๆ ถัดถูลู่ถูกัง กระเถิบกันขึ้นไป แต่เมื่อขึ้นไปสู่ลานกว้างของชั้นบนเผยให้เห็นผืนน้ำตกขนาดกว้างใหญ่สวยงาม ทำให้หายเหนื่อยกันได้พักใหญ่ทีเดียว
สถานที่แห่งนี้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่ป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น มีสัตว์ป่าชุกชุม รวมถึงมีกิ้งก่าภูวัว ซึ่งพบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยอีกด้วย สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเดินป่า ศึกษาธรรมชาติ สามารถสอบถามได้ที่หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว
หลังร่ำลาเจ้าหน้าที่ ก็เดินทางต่อไปยัง น้ำตกเจ็ดสี เขียนภาษาอังกฤษว่า Chet Si Waterfall ไม่ผิดค่ะ เขียนอย่างนี้จริงๆ เป็นน้ำตกที่ตั้งอยู่บ้านดอนเสียด อำเภอเซกา เป็นน้ำตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งโดยเฉพาะในหน้าฝน น้ำตกเกิดจากธารน้ำของห้วยกะอาม ไหลมาตามหน้าผาหินทรายสูงและแผ่กว้างเป็นทางยาว ละอองน้ำเมื่อกระทบกับแสงแดดทำให้เกิดเป็นสีรุ้ง จึงเรียกว่าน้ำตกเจ็ดสี
แม้ครั้งนี้จะไม่มีโอกาสได้บันทึกภาพละอองน้ำเจ็ดสี แต่ก็ได้รับอารมณ์ความแอดเวนเจอร์สุดๆ เมื่อตามเจ้าหน้าที่ป่าไม้ขึ้นสู่ชั้นบนของน้ำตกที่สูงชัน อีกทั้งบางช่วงความแรงของกระแสน้ำที่ถาโถมลงมาจากยอดเขา จนแทบจะพาเอาร่างของมนุษย์เล็กๆ อย่างเราลอยละลิ่วไปตามน้ำ หากไม่มีเชือกที่ขึงริมทางและรองเท้าบู้ทยางคู่ใหม่สีสดที่ทำให้ยึดพื้นผาหินได้อย่างมั่นคง
ที่น้ำตกแห่งนี้ทางเดินเป็นลานหิน ซึ่งลื่นบ้าง ไม่ลื่นบ้าง จึงเห็นรองเท้ากองโตของนักท่องเที่ยววางเต็มลานหินก่อนจะถึงตัวน้ำตก วันนี้เป็นวันหยุด น้ำตกเจ็ดสีจึงคลาคล่ำไปด้วยผู้คน สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ จำนวนขยะที่กองอยู่มากมาย ส่งกลิ่นเหม็นตลบอบอวล ชวนให้เสียดายทัศนียภาพเป็นที่สุด
ด้วยเพราะความมักง่ายของนักท่องเที่ยว และความไม่พร้อมที่ไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความสะอาด ขวดพลาสติก ถุงกะปิน้ำปลา จึงกองพะเนินอวดความน่ารังเกียจอยู่เป็นระยะๆ ไม่เว้นแม้แต่การเมาแล้วอ้วกตามทางที่เพิ่งเห็นมาเมื่อสักครู่
หนึ่งปัญหาใหญ่ คือความไม่พร้อมต่อระบบการจัดการ และการสร้างจิตสำนึกต่อผู้มาเยือน
คณะของเรากลับออกมาเพื่อไปสำรวจแหล่งท่องเที่ยวกันต่อที่ น้ำตกภูถ้ำพระ หลังจากเดินลุยน้ำ ขึ้นเขา ลุยโคลนกันสองแห่ง อาการสะบักสะบอมเริ่มถามหา การไปสำรวจน้ำตกแห่งนี้ในครั้งแรกจึงไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายนัก
การเดินทางสู่ น้ำตกภูถ้ำพระ อำเภอบุ่งคล้า ต้องต่อเรือหางยาวของชาวบ้านไปยังน้ำตก แต่การนั่งเรือใช้เวลาเพียงห้านาทีก็ถึงจุดหมายปลายทาง หลังจากนั้นเดินอีกไม่ไกลเท่าไหร่นัก ก็ได้พบกับความอลังการของน้ำตกภูถ้ำพระ โลเกชั่นยิ่งใหญ่พาให้นึกถึงหนังฝรั่งเรื่อง The Lord of the Ring ก็ไม่ปาน สวยมาก ความเหน็ดเหนื่อยหายเป็นปลิดทิ้ง การไม่คาดหวังเมื่อพบกับสิ่งที่น่ามหัศจรรย์เช่นนี้ ทำให้รู้สึกตื่นเต้นอย่างบอกไม่ถูก
“สวยมั้ยครับ….” สงสัยพี่หมูจะเห็นอาการที่เก็บไม่อยู่ของบรรดาช่างภาพ ที่กระจัดกระจายหามุมเก็บภาพกันเป็นระวิง น้ำตกแห่งนี้อยู่ห่างอำเภอเซกาแค่ 34 กิโลเมตร มีน้ำเฉพาะในหน้าฝนเท่านั้น บริเวณน้ำตกเงียบสงบและร่มรื่น เป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ ที่เชิงผาจึงมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐาน ช่วงฤดูฝนเยี่ยงนี้สายธารจากน้ำตกชั้นบนไหลผ่านลงสู่เบื้องล่างกินบริเวณกว้าง
ฉันเดินขึ้นบันไดต่อไปยังเนินสูงที่ปกคลุมด้วยหญ้าเขียวขจี บนลานหินด้านหลังจะพบหุบเขาแอ่งกระทะขนาดกว้างถึง 200 ตารางเมตร น้ำตกไหลผ่านหน้าผากว้างราว 100 เมตร สูงประมาณ 50 เมตร น่านน้ำขนาดใหญ่สาดแรงตรงหน้า ด้านข้างเห็นโขดผาสีส้มตัดกับสายน้ำ ทำเอาตะลึงไปตามๆ กัน มหัศจรรย์ไทยแลนด์จริงๆ ไม่น่าเชื่อว่าจะสวยงามขนาดนี้ “น้ำตกภูถ้ำพระ” จึงเป็นฉากจบของการสำรวจแหล่งท่องเที่ยวที่น่าประทับใจยิ่งของวันทีเดียว
…และต้องขอบใจเจ้ารองเท้าบู้ทยางสีเขียวสดคู่ละ 150 บาทที่สวมใส่ ซึ่งทำให้ฉันพาร่างตัวเองรอดปลอดภัยจากการผจญภัยใน 3 น้ำตก 3 มหัศจรรย์ ได้ตลอดรอดฝั่ง
เมืองอารยะ ธรรมะบึงกาฬ
เข้าสู่วันที่สาม เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและคณะ ผอ.สมฤดี ตระเตรียมเครื่องถวายสังฆทานแด่หลวงพ่อทองพูน สิริกาโม (พระญาณสิทธาจารย์) เจ้าคณะจังหวัด ที่วัดสามัคคีอุปถัมภ์ (วัดภูกระแต)
….หลังรับบุญกันถ้วนทั่วก็เดินทางต่อไป วันนี้โปรแกรมค่อนข้างสบายกว่าวันวานมาก โดยแวะสักการะหลวงพ่อพระใหญ่ วัดโพธาราม ซึ่งห่างจากตัวอำเภอเมืองเพียง 5 กิโลเมตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวจังหวัดบึงกาฬ จังหวัดใกล้เคียง รวมถึงประเทศสปป.ลาวด้วย ที่นี่ในอุโบสถให้ผู้ชายเข้าไปกราบไหว้ได้เท่านั้น ส่วนคุณผู้หญิงก็ให้นั่งกราบด้านหน้าอุโบสถเจ้าค่ะ
“ช่วงบ่ายมีพิธีเปิดกิจกรรม ปั่นสองขาเที่ยวปลูกป่าท้าสายฝนค่ะ” คุณมดเกริ่นให้ฟังในช่วงของการเตรียมการ ยืนจดๆ จ้องๆ อยู่สักพักก็ได้เวลาเปิดงาน ครั้งนี้มีนักปั่นสองขาให้ความสนใจจำนวนมากนับร้อยๆ คันทีเดียว เส้นทางปั่นจากตัวเมืองเพื่อไปปลูกป่ากันที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว น้ำตกถ้ำฝุ่น อำเภอบุ่งคล้า น้ำตกไหลมาจากหน้าผาหินทรายที่มีลักษณะเป็นร่องแคบ สามารถมองเห็นสายน้ำเป็นทางยาว และมีน้ำเฉพาะหน้าฝนเช่นเดียวกัน
ด้วยเพราะการเดินเข้าสู่น้ำตกที่ไม่ไกลจากลานจอดรถมากนัก ทำให้ผู้เฒ่าผู้แก่ หอบลูกจูงหลาน หอบเสื่อ หอบข้าวเหนียวนึ่งขึ้นมากันเป็นแถว ที่ดูจะถูกใจเห็นจะเป็นเด็กน้อยที่เล่นสนุกอย่างเต็มที่ สามารถลื่นไถลจากตัวลงมาตามสายน้ำราวกับสไลเดอร์ได้อย่างไม่อันตราย แต่ยังไงก็ยังคงลื่นอยู่ดีสำหรับคนที่ไม่ได้ตั้งใจเล่นน้ำ รองเท้าบู้ทยางช่วยคุณได้เช่นเคย
จุดชมวิว บุ่งคล้า และตลาดสด
“เดี๋ยวจะพาขึ้นไปยังจุดชมวิวที่ยังไม่มีใครรู้จักสักเท่าไหร่ คิดว่าน่าจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้” กล่าวเสร็จพี่หมูก็กระโดดผลุงนำขึ้นรถตู้ค่อยๆ เคลื่อนตัวไปยังอำเภอบุ่งคล้า ตำบลหนองเดิ่น
จากถนนใหญ่เมื่อเลี้ยวเข้าสู่ภายในหมู่บ้าน ยังมีสภาพถนนเป็นดินแดง เป็นหลุมเป็นบ่อ ทำให้รถตู้ไม่สามารถเข้าไปได้ คณะจึงต้องเปลี่ยนรถ โดดขึ้นรถกระบะบ้าง รถโฟร์วิวส์บ้าง พื้นผิวถนนได้ใจจริงๆ
บริเวณจุดชมวิวซึ่งอยู่บนเนินเขาริมฝั่งโขง มีรูปปั้นของศาสดาทั้งสองศาสนา ทั้งคริสต์และพุทธประดิษฐานไม่ห่างกันเท่าใดนัก ส่วนกลางเป็นลานสำหรับประกอบศาสนกิจ กำนันปัญญา เภ้าสร้อย เล่าให้ฟังว่า “บรรพบุรุษของคนบ้านห้วยเล็บมือกับภูสวาท 2 หมู่บ้านนี้ อพยพมาจากแขวงคำม่วนทางตอนกลางของสปป.ลาว ถ่อแพข้ามลำน้ำโขงมาอาศัยแผ่นดินไทยตั้งแต่เมื่อครั้งปลายกรุงศรีอยุธยา โดยฝั่งลาวที่เห็นคือบ้านโดนและบ้านสมสนุก ซึ่งก็นับถือศาสนาคริสต์เหมือนกัน อำเภอบุ่งคล้ามี 25 หมู่บ้าน 2 หมู่บ้านนี้นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธปะปนกัน มีทั้งหมดราว 70 ครัวเรือน แรกเริ่มบาทหลวงซึ่งตั้งวัดอยู่ฝั่งลาว เมื่อข้ามมาฝั่งไทยก็นำศาสนามาเผยแพร่ด้วย
ลานศาสนกิจแห่งนี้เป็นสถานที่รวมจิตใจของคนสองศาสนา เมื่อมีงานบุญ ชาวบ้านจะมาร่วมงานโดยไม่มีการแบ่งแยก ที่นี่ยังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ภายในหมู่บ้านยังปรากฏหลักฐานเครื่องใช้ไม้สอยและสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจให้เห็น
อยากให้หน่วยงานราชการเข้ามาสนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวประจำจังหวัดบึงกาฬอีกแห่งหนึ่ง เพราะไม่ไกลจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัวที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของบึงกาฬ ตรงนี้ถือเป็นจุดชมวิวที่สวยงามจุดหนึ่ง”
สำหรับฉัน นอกจากทิวทัศน์เบื้องหน้าแล้ว ฉันยังนึกย้อนถึงชุมชนวิถีที่ได้รับการบอกเล่าว่ายังหลงเหลือร่องรอยแห่งอารยธรรมเมื่อครั้งอดีต…น่าสนใจทีเดียว แต่เนื่องจากเวลามีไม่มากพอ จึงเตรียมแผนสำหรับการเดินทางในทริปหน้าเพื่อลงสำรวจให้ละเอียดมากขึ้น
ส่วนที่เข้าไปสำรวจอีกแห่งคือ หนองกุดทิง เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ถึง 22,000 ไร่ สมัยก่อนคนเรียกสถานที่นี้ว่าหนองกระทิง ถือว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพ มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งพืชน้ำ ปลาเอกลักษณ์ที่ไม่มีที่ใดในโลกกว่า 20 สายพันธุ์ นกพันธ์ต่างๆ กว่า 40 ชนิด จึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (พื้นที่แรมซาร์) สำคัญของโลก เป็นแห่งที่ 11 ของไทย
ปิดท้ายทริปกันในวันรุ่งขึ้นด้วยการเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวบึงกาฬในริมลำน้ำโขง ที่ตลาดพื้นบ้านไทย-ลาว ที่ที่มีอาหารแปลกหน้า ผักแปลกตาให้ได้เห็นเป็นระยะๆ ทั้งกบ เขียด สดๆ นกกระทาย่างทั้งตัว สมุนไพรทลายโลกอีกมากมาย ร้านรวงเปิดกันแต่เช้า พ่อค้าแม่ขายต่างวัยยึดมุมทำกิน สินค้ามากมายตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันรองเท้าบู้ทที่จำหน่ายเพียงคู่ละร้อยสามสิบบาท เอ่อ….จริงดิ
หลังการสำรวจแหล่งท่องเที่ยวและเก็บข้อมูลตลอดสี่วันที่ผ่านมา คุณเอ-สมฤดี ชาญชัย ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ททท. แสดงความคิดเห็นว่า “….จังหวัดบึงกาฬ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมองว่า เป็นจังหวัดที่มีสินค้าทางการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์มาก นอกจากความสมบูรณ์แง่ธรรมชาติที่สวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ว่าเป็นการท่องเที่ยวด้านน้ำตกหรือวัดต่างๆ รวมทั้งดูวิถีชีวิตชุมชนหรือตลาด ซึ่งบึงกาฬยังเป็นจังหวัดน้องใหม่ที่เรียกว่ามีแหล่งท่องเที่ยวที่ยังบริสุทธิ์อยู่
การเดินทางมาครั้งนี้ถือว่าเป็นการสำรวจ ก่อนที่จะเริ่มต้นการวางแผนทางการตลาดต่อไป ตอนนี้ถึงแม้บึงกาฬจะมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวมากมาย แต่ทรัพยากรส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซึ่งมีข้อจำกัดในแง่การเข้าไปเยี่ยมชม
อีกอย่างหนึ่งเนื่องจากบึงกาฬเป็นจังหวัดน้องใหม่ ยังไม่มีแผนแม่บทที่จะรองรับนักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ซึ่งยังต้องพัฒนาอีกหลายๆ ด้าน ททท.จึงระดมส่วนของผู้ประกอบการ สื่อมวลชนเพื่อเข้ามาดูความคิดเห็นต่างๆ เพื่อไปนำเสนอกับทางจังหวัดว่า แหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้พร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวและไม่ให้เกิดผลเสียในระยะยาวต้องมีแผนไปในทิศทางไหน
ตอนนี้ถ้าถามถึงททท.ที่จะมองถึงสินค้าการท่องเที่ยวบึงกาฬ เราจะเน้นเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวในลักษณะ Slow Travel เที่ยวแบบซึมซับ ศึกษาวัฒนธรรม ประเพณี รวมทั้งธรรมชาติ เน้นนักท่องเที่ยวจิตอนุรักษ์ก่อน เมื่อทางจังหวัดพร้อม มีแผนรองรับนักท่องเที่ยว มีการบริหารจัดการ มีการกำหนดโซนนิ่งเรียบร้อย ทางการท่องเที่ยวฯ ก็จะดำเนินการตลาดอย่างเต็มรูปแบบให้กับทางบึงกาฬเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในอนาคต
สินค้าทางการท่องเที่ยวของบึงกาฬถือว่าสุดยอด โดยเฉพาะน้ำตกที่ถ้ำพระ คิดว่าน่าจะสวยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย แต่ของเหล่านี้ถ้ายังไม่มีความพร้อม โปรโมทออกไปมากจะส่งผลกระทบมากกว่า
ตอนนี้คิดว่าอยากเชิญชวนนักท่องเที่ยวในลักษณะที่เดินทางท่องเที่ยวพร้อมกับไปให้ความรู้กับคนในพื้นที่ เข้าไปแชร์ความคิดเห็นแก่ชาวบ้านและผู้ประกอบการ ซึ่งจะนำไปสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
ส่วนที่สำคัญคือคนในพื้นที่ทั้งประชาชนและทุกภาคส่วน ต้องระดมความเห็นกันว่าในแหล่งท่องเที่ยวที่ตัวเองมีมากมายนี้จะเปิดตรงไหนก่อน เพื่อที่จะรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้ามา และรองรับอนาคตที่บึงกาฬจะมีการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างไทยและสปป.ลาว
ปัจจุบันการเดินทางเข้ามาเที่ยวบึงกาฬไม่ยาก สามารถเดินทางไปได้ทั้งที่อุดรฯ นครพนม และสกลนคร ทางเครื่องบินใช้เวลาเดินทางสู่บึงกาฬแค่สองชั่วโมงกว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้ย่นระยะการเดินทางที่เรามองในอดีตว่าบึงกาฬไปไกลมาก มีรถเช่าพร้อมคนขับที่ชำนาญทาง มีรถประจำทางที่เข้าสู่บึงกาฬตลอดเวลา เรื่องของการเดินทาง เราไม่ห่วง
เราอยากเห็นบึงกาฬเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวในลักษณะท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เหมือนกระบี่ที่เน้นท่องเที่ยวธรรมชาติด้านทะเล จังหวัดเลยเน้นธรรมชาติ อยากให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เมื่อคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสแล้ว จะเกิดจิตใต้สำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม”
หวังเหลือเกินว่า ในเวลาอันใกล้ ฉันคงมีโอกาสได้กลับมาเยือนนครน้องใหม่แห่งนี้อีกครั้ง ในรูปแบบของการท่องเที่ยวแบบ Slow Travel ค่อยๆ ซึมซับ ซึมซาบกับเรื่องราว เรื่องเล่าเหล่าอารยะต่างๆ ละเลียดลมหายใจผ่านสายธารแห่งศรัทธาของผู้คนพื้นถิ่น เกี่ยวคว้าความงามจากธรรมชาติที่อบอวลถ้วนทั่วผืนดิน
ที่นี่ “นครธรรม นคร…บึงกาฬ”
คัดลอกที่มา http://aworldconnect.com/index.php/checkin/92-putok‘>