ชีวิตใหม่เกษตรกรชาวบึงกาฬ
กว่า 25 ปีนับตั้งแต่โครงการน้ำพระราชหฤทัยจากในหลวง หรือโครงการอีสานเขียว ช.1 รอ. ที่ได้เริ่มปฏิบัติดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2530 ที่ยางพาราเริ่มเป็นพืชเศรษฐกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน และชัดเจนยิ่งขึ้นหลังจากรัฐบาลดำเนินโครงการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ ในพื้นที่ 36 จังหวัดภาคเหนือและภาคอีสาน เมื่อปี 2547 ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจของภาคอีสานที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราได้อย่างงดงาม ส่งผลให้แรงงานในภาคอีสานกลับคืนถิ่นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.บึงกาฬ ซึ่งถือเสมือนหนึ่งเป็นเมืองยางพาราของภาคอีสาน เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ปลูกยางพารามากที่สุดในภาคอีสานเกือบ 1 ล้านไร่ ทำให้เงินสะพัดที่เป็นรายได้มาจากยางพาราใน จ.บึงกาฬ จำนวนมหาศาล และเกษตรกรอยู่ดีกินเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ในยุคแรกๆ เกษตรกรในภาคอีสานก็ไม่กล้าตัดสินใจปลูกยางพารา เพราะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศไทยตกอยู่ในภาวะตกต่ำ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ทั้งข้าว และยางพารา หลายคนมองว่า เมื่อปลูกแล้วจะได้ผลผลิตจริงตามที่ได้รับฟังมาหรือไม่ หรือถ้าปลูกแล้วจะนำไปขายที่ไหน แต่ขณะเดียวกันก็มีเกษตรกรส่วนหนึ่งตัดสินใจปลูกยางพารา อย่าง ชูทรัพย์ เอี่ยวคำ เกษตรกรชาวสวนยางบ้านหอคำ ต.หอคำ อ.เมือง จ.บึงกาฬ ที่ตัดสินใจปลูกยางพาราในยุคนั้น พร้อมๆ กับเกษตรกรายอื่น
กระนั้นก็ตาม ชูทรัพย์ บอกว่า ช่วงแรกเกษตรกรที่ทำสวนยางพาราหลายคนไม่ค่อยมีใครประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งใจ บางคนปลูกทิ้งไว้แล้วไม่ดูแล บางคนปลูกแล้วไถทิ้งปลูกพืชชนิดอื่นแทน และบางคนเลิกทำเฉยๆ เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่มีนักวิชาการไปแนะนำในการทำสวนยางนั่นเอง ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องเลิกทำสวนยางพาราในช่วงเวลาดังกล่าว
ชูทรัพย์ บอกว่า ตัดสินใจปลูกยางพาราในยุคอีสานเขียวในพื้นที่ 20 ไร่ จนเวลาผ่านไปยางพาราสามารถกรีดได้ แต่ไม่มีสักครั้งว่าราคายางพาราจะเพิ่มขึ้น ทำไปก็บ่นไป ทำไปเพื่อหาเงินสร้างรายได้เพื่อพยุงชีวิตและครอบครัวให้ดีขึ้น ทั้งที่สมัยนั้นเวลานำไปขายค่อนข้างจะลำบาก ต้องไปนอนรอคิวเข้าแถว กว่าจะได้ขายก็ปาเข้าไปครึ่งวันของวันถัดไป จำได้ว่าขายราคาสูงสุดอยู่ที่ กก.ละ 24 บาท ทำไปกว่า 10 ปี ราคายางพาราดีขึ้น และรัฐบาลมีการส่งเสริมให้เกษตรกรทางภาคอีสานปลูกยางพาราภายใต้โครงการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกยางพารามากขึ้น เขาเองก็ปลูกเพิ่มอีก 10 ไร่
“ช่วง 4-5 ปีที่แล้ว ราคายางพาราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ชาวบ้านเดิมทีเป็นชาวนาก็หันมาเป็นเกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นอาชีพเสริมหลังจากทำนาปลูกข้าว แต่ในปัจจุบันการทำนาปลูกข้าวแค่ปีละครั้ง แต่การทำสวนยางต้องกรีดยางทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ จนกลายเป็นว่า ทุกวันนี้การทำสวนยางพาราเป็นอาชีพหลัก ส่วนทำนาปลูกข้าวกลายเป็นอาชีพเสริม” ชูทรัพย์ กล่าว
เช่นเดียวกับ มังกร เอี่ยมไทรมี เกษตรกรชาวสวนยางพาราบ้านศรีชมพู ต.ศรีชมพู อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ บอกว่า เดิมทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่กรุงเทพฯ แต่สู้ค่าครองชีพที่สูงขึ้นไม่ไหว จึงหวนกลับมาบ้านเกิดอีกครั้ง และเริ่มศึกษาการปลูกยางพารามาตั้งแต่ปี 2537 ใช้เวลาเรียนรู้ในด้านต่างๆ 1 ปีเต็ม จนปี 2538 ตัดสินใจปรับพื้นที่ปลูกยางพารา 15 ไร่ หลังจากรัฐบาลมีการส่งเสริมปลูกยางพารา จึงขยายพื้นที่ปลูกอีก 20 ไร่ ปัจจุบันสวนยางพาราทั้ง 30 ไร่ สามารถกรีดได้แล้ว แต่กว่าจะเป็นต้นยางพาราที่ให้น้ำยางมาได้วันนี้ ต้องทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ในการดูแลรักษาต้นยาง ตั้งแต่การเตรียมดิน การเพาะเลี้ยงกล้ายางพารา ตลอดจนการบำรุงใส่ปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง ไถพรวนดินถึง 3 ปี ตัดหญ้า ดายหญ้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ยางพาราเจริญเติบโตได้เร็ว จนต้นยางอายุครบ 7 ปี สามารถเปิดกรีดได้ ขณะนี้กำลังเตรียมที่จะปลูกเพิ่มอีก 10 ไร่
“หลังจากหันมาประกอบอาชีพทำสวนยาง แรกๆ อาจใช้เวลาบำรุงรักษาสวนยางก็เหน็ดเหนื่อย เพราะมีอุปสรรคมากมาย แต่พอยางพาราสามารถให้น้ำยางได้แล้วทำให้เราสบายขึ้น มีเวลามากขึ้น จึงมีเวลาไปเป็นกรรมการองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวกับชาวสวนยาง และได้รับการคัดเลือกของชาวสวนยางให้เป็นผู้ประสานงานกับ ส.ก.ย. และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้มาช่วยกันพัฒนาส่งเสริมยางพาราในชุมชน แม้ตอนนี้ราคายางพาราไม่ค่อยดีนัก แต่ก็ยังอยู่ได้ และมีรายได้ดีกว่าทำนาด้วย” มังกร กล่าว
จากที่ชาวบึงกาฬหันมาทำสวนยางเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นอันดับหนึ่งของภาคอีสาน แต่เนื่องจากการทำสวนยางถือเป็นอาชีพใหม่ ต้องยอมรับว่า ชาวสวนยางมือใหม่ยังด้อยประสบการณ์ในด้านการกรีด การดูแล และการแปรรูป ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ กรมวิชาการเกษตร โดยศูนย์วิจัยยางพารา จ.สงขลา และศูนย์วิจัยยางพารา จ.หนองคาย ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บึงกาฬ และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ได้มีการจัดงาน “วันยางพารา 2012” ขึ้น ที่ จ.บึงกาฬ เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราได้เข้าร่วมชมนิทรรศการ การสาธิตกรีดยาง แข่งขันกรีดยาง พร้อมมีการแนะนำการบำรุงรักษาสวนยางก่อนและหลังการกรีดยางจากกรมวิชาการเกษตร สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (ส.ก.ย.) และ ธ.ก.ส. เพื่อเป็นการพัฒนาและส่งเสริมการปลูกยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจย่างต่อเนื่อง
“ชูทรัพย์ เอี่ยวคำ” และ “มังกร เอี่ยมไทรมี” ก็เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของเกษตรกรชาว จ.บึงกาฬ จากอดีตที่ทำนาปลูกข้าวเป็นอาชีพ ที่หันเหชีวิตมาเป็นชาวยางพารา แม้ปัจจุบันราคายางพาราตกต่ำไปกว่าครึ่งหนึ่ง แต่เขายืนยันว่า มีชีวิตที่ดีกว่าการทำนา เพราะยางพารามีรายได้ทุกวันนั่นเอง
‘>