LINE : ติดต่อผู้ดูแล

ยินต้อนรับเว็บไซต์ข่าวสารเพจข่าวท้องถิ่นบึงกาฬ

วันอังคารที่ 3 ธันวาคม 2024
คอลัมน์วันนี้

“ภูสิงห์ หินยักษ์” บึงกาฬ เที่ยว “4 เขา 4 โขง”

14223295581422329591l

 

นี่คือ “เส้นทางท่องเที่ยว” จังหวัดน้องใหม่ลำดับ77 ของเมืองไทยในภาคอีสาน ติดริมน้ำโขง อย่าง “บึงกาฬ” เมืองอันเต็มไปด้วยธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แหล่งท่องเที่ยวที่เพิ่งจะเปิดตัวให้นักท่องเที่ยวสัมผัสได้ไม่นาน รับประกัน “ความสดใหม่” ที่จังหวัดอื่นไม่มี


หินยักษ์รูปปลาวาฬ ในอุทยานภูสิงห์ จ.บึงกาฬ ซึ่งจะมีการแถลงเปิดตัวเป็นแหล่งท่องเที่ยวเร็วๆ นี้

หากคุณเป็นผู้ที่ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวในสไตล์ “On the Road” เพื่อค้นหาสถานที่แปลกใหม่อันน่าสนใจและเต็มไปด้วยความท้าทาย “ประชาชาติธุรกิจ” เชื่อว่าเรื่องที่จะเล่าต่อจากนี้ ต้องเป็นสิ่งที่โดนใจและตรงตามจริตของคุณได้ไม่มากก็น้อย

สิ่งที่จะบอกเล่าก็คือ “เส้นทางท่องเที่ยว” จังหวัดน้องใหม่ลำดับ 77 ทางภาคอีสานติดริมน้ำโขงของเมืองไทยอย่าง “บึงกาฬ” ซึ่งเต็มไปด้วยธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์และหลากหลาย เพิ่งเปิดตัวให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปสัมผัสได้ไม่นาน รับประกัน “ความสดใหม่” ที่จังหวัดอื่นไม่มีหรือหาได้ยาก

ตามปกติของการเดินทางเข้าสู่จังหวัดบึงกาฬ สามารถเลือกช่องทางผ่านได้ถึง 3 จังหวัด อย่างหนองคาย, สกลนคร และนครพนม แต่ถ้าจะเลือกแนวทางที่โดดเด่นพอเป็นไฮไลต์ให้ได้จดจำไม่รู้ลืม คงต้องเฉพาะเจาะจงเดินรถเข้าไปทางจังหวัดหนองคาย เป็นเส้นทางเลาะเลียบลำน้ำโขง ระยะยาวกว่า 210 กิโลเมตร (สิ้นสุดที่นครพนม) ให้นักเดินทางสไตล์ On the Road ทั้ง 2 และ 4 ล้อ บุกตะลุยกันอย่างสุดเหวี่ยง

โดยไม่สนว่าคุณจะมาจากจังหวัดใดในเมืองไทย เราขออนุญาตออกเริ่มต้นการเดินทาง 1 กิโลเมตรแรกบนถนนทางหลวง 212 บริเวณ “โรงพยาบาลหนองคาย 2” ก่อนจะตะบึงรถยิงยาวเข้าสู่พื้นที่จังหวัดที่ 77 อย่างเต็มตัวในกิโลเมตรที่ 88 อันเป็นพื้นที่ “อำเภอปากคาด” ของจังหวัดบึงกาฬ

ทีมงานสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวจังหวัดน้องใหม่ ของประชาชาติธุรกิจ ได้รับความร่วมมือจาก “พินิจ จารุสมบัติ” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ปัจจุบันผันตัวมาเป็น “นายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน” และทำธุรกิจสวนยางอยู่ในบึงกาฬ ช่วย พาตระเวนชมแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด พร้อมทั้งมีผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ “พงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์” มาร่วมพูดคุยถึงรายละเอียดการท่องเที่ยวและตัวเลขเศรษฐกิจของจังหวัดอย่างเป็นกันเอง

“ถึงเราจะภูมิใจกับการที่บึงกาฬเป็นเมืองแห่งยางพารามีพื้นที่ปลูกยางกว่า1ล้านไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 2.6 ล้านไร่ แต่เมื่อมองจากภูมิศาสตร์ของจังหวัดทั้ง 8 อำเภอ มีพื้นที่ติดลำน้ำโขง 4 อำเภอประมาณ 120 กิโลเมตร และอีก 4 อำเภอมีลักษณะเป็นเขาสูง จึงทำให้บึงกาฬมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมายเต็มไปหมด ซึ่งผมมีคำเรียกพื้นที่ดังกล่าวของจังหวัดว่า 4 เขา 4 โขง”


บริเวณหน้าวัดอาฮงศิลาวาส เป็นจุดชมสะดือแม่น้ำโขง ซึ่งลึกที่สุดของแม่น้ำโขง

ผู้ว่าฯบึงกาฬ อธิบายลักษณะทางกายภาพของจังหวัดน้องใหม่ก่อนจะเพิ่มเติมว่า บึงกาฬได้วางแผนสร้างแลนด์มาร์กของจังหวัดเอาไว้บริเวณริมฝั่งโขง ด้วยการถมดินริมฝั่งโขงออกไปอีก 33 เมตรจากฝั่งไทยเป็นความยาว 6 กิโลเมตรในช่วง 3 ปี เพื่อใช้เป็นทั้งเขื่อนป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง และเป็นแลนด์มาร์กดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งจะมีทั้งเสาหลักเมืองและพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจให้ใช้ในอนาคต

หลังจากฟังรายละเอียดอย่างย่นย่อของบึงกาฬจากปากผู้ว่าฯไปแล้วก็กลับเข้าสู่เรื่องราวการท่องเที่ยวในส่วนของอำเภอปากคาดกันต่อ

อำเภอปากคาดมีวัดสำคัญทางพุทธศาสนาของคนบึงกาฬอย่าง “วัดสว่างอารมณ์” หรือ “วัดถ้ำศรีธน” ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากรอยต่อระหว่างหนองคายกับบึงกาฬเพียงแค่ 650 เมตรเท่านั้น ภายในมีโบสถ์ตั้งอยู่บนหินก้อนใหญ่ ส่วนบริเวณถ้ำหลืบถ้ำด้านล่างเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ปางปรินิพพาน ส่วนสาเหตุที่ทำให้วัดมีอีกชื่อว่าถ้ำศรีธน สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะตั้งอยู่ใกล้กับ “เมืองเป็งจานนครราช” ของท้าวศรีธน

ถัดจากวัดสว่างอารมณ์มาประมาณ 27 กิโลเมตร บนทางหลวงสาย 212 จะเข้าสู่อำเภอเมืองบึงกาฬ และพบกับ “วัดอาฮงศิลาวาส” ซึ่งมีชื่อเดิมว่า “วัดถ้ำคอกม้าชมศิลาป่าเลไลย์” เป็นวัดสำคัญของจังหวัดที่มีกลุ่มหินทรายขนาดมหึมากระจายตัวเต็มพื้นที่วัด อีกทั้งยังเป็นสถานที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อสุโขทัย” กับ “หลวงพ่อเชียงแสน” พระพุทธรูปทองคำโบราณคู่บ้านคู่เมือง รวมทั้ง “พระพุทธคุวานันท์ศาสดา” ที่จำลองจากพระพุทธชินราชความสูง 7 เมตร หน้าตัก 3.8 เมตร และพระพุทธรูปโบราณศิลปะอีกมากมาย


แก่งสะเดาะกลางแม่น้ำโขง มองจากฝั่งไทย

นอกจากกลุ่มหินทรายขนาดมหึมา ที่มีเรื่องเล่าเกี่ยวพันกับพุทธประวัติและพญานาคแล้ว ยังมีความเชื่อว่าแม่น้ำโขงบริเวณวัดอาฮงศิลาวาสมีความลึกที่สุด สามารถมองเห็นกรวยน้ำวน 2 กรวยชัดเจนในช่วงน้ำหลาก (กรกฎาคม-กันยายน) และหากมองเยื้องออกไปบริเวณด้านหน้าวัดจะพบแก่งหินกลางลำน้ำ แน่นอนว่าถ้ามีเรื่องเล่าเกี่ยวพันกับพญานาคแบบนี้ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่วัดอาฮงฯจะเป็นอีกหนึ่งจุด ที่สามารถชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคได้ทุกวันออกพรรษา หรือ 15 ค่ำเดือน 11

เมื่อชื่นชมความสวยงามของกลุ่มหินทราย, แม่น้ำโขง และพระพุทธรูปแล้ว แนะนำให้ขับรถต่อไปอีกประมาณ 30 กิโลเมตรจะพบกับ “กุดทิงใหญ่” แหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่ชุ่มน้ำขนาด 22,000 ไร่ ที่ยังคงความธรรมชาติที่มีพื้นที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง ทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพ จนได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระดับโลก (พื้นที่แรมซาร์) แห่งที่ 11 ของประเทศไทย

พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิงใหญ่ มีสัตว์น้ำอาศัยอยู่มากกว่า 250 สายพันธุ์ ซึ่ง 20 สายพันธุ์ในจำนวนนั้นมีเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของโลก ทางด้านของนกมีมากกว่า 40 ชนิดในแหล่งท่องเที่ยวแหล่งนี้


แม่น้ำโขงหน้าวัดอาฮงศิลาวาส เชื่อว่า ใต้แม่น้ำบริเวณนี้เป็นถ้ำพญานาค

รายละเอียดของแหล่งท่องเที่ยวในอำเภอเมืองบึงกาฬ พงษ์ศักดิ์ ผู้ว่าฯบึงกาฬได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้มีความคิดทำ “ถนนข้าวเม่า” ขึ้นมาบนพื้นที่ 6 กิโลเมตรริมแม่น้ำโขง เพื่อใช้เป็นพื้นที่จัดงานใหญ่ประจำจังหวัดในช่วงสงกรานต์ นับเป็นการสร้างประเพณีท่องเที่ยวแบบใหม่ของบึงกาฬขึ้นมา

ความจริงหากมีเวลาเหลือเฟือระหว่างอยู่ในอำเภอเมืองบึงกาฬแนะนำให้เดินทางข้ามแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่จุดผ่านแดนบึงกาฬ-ปากซันซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ3-5 กิโลเมตรเท่านั้น เพื่อนั่งเรือข้ามฟากไปเที่ยวยังแขวงบอริคำไซของลาว ซึ่งมีสถานที่น่าสนใจจำนวนไม่น้อย อาทิ วัดพระบาทโพนคำ, น้ำตกตาดเล็ก, ปากกะดิ่ง, น้ำตกวังพอง และหลักซาวบ้านนาแป ก่อนจะข้ามกลับมาลุยเที่ยวในบึงกาฬต่อ

“เราพยายามโปรโมตการท่องเที่ยวระหว่างบึงกาฬกับแขวงบอลิคำไซด้วยการใช้เพลงกุหลาบปากซันมาเป็นตัวจุดประเด็นให้กลายเป็นความรักระหว่างหนุ่มสาวทั้ง2 ฝั่ง จากนั้นผมจึงต่อยอดให้ตลอดริมฝั่งโขงมีที่คล้องกุญแจแบบโซลทวิน ซึ่งตอนนี้ก็มีคนไปคล้องกันเต็มไปหมดแล้ว ถือเป็นการสร้างสตอรี่ให้กับเมือง อีกหน่อยถ้าพื้นที่ 33 เมตร 6 กิโลเมตรเสร็จมันจะกลายมาเป็นจุดขายให้จังหวัด แต่จะบูมยิ่งกว่านี้เมื่อสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 ของบึงกาฬสร้างเสร็จ” ผู้ว่าฯบึงกาฬกล่าว

เมื่อกลับเข้าสู่ฝั่งไทยแล้ว จุดหมายการเดินทางต่อไปที่น่าสนใจและอยากแนะนำคือ “ภูสิงห์” อยู่ห่างออกมาราว 26 กิโลเมตร ด้านล่างเป็นที่ตั้งของ “วัดป่าภูสิงห์” และมีลานธรรมขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้าของก้อนหิน 2 ก้อน ที่มีลักษณะคล้ายสิงโต 2 ตัวหมอบเข้าหากัน พื้นที่บริเวณนี้สามารถขับรถขึ้นไปเองได้ เพื่อไหว้พระเป็นสิริมงคลและเดินไปยังจุดชมวิวลานธรรม

แต่หากอยากไปชมวิวยังจุดอื่นบนภูสิงห์ จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เสียก่อน เนื่องจากเส้นทางค่อนข้างโหด ต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้นถึงจะสามารถขึ้นไปได้ และควรมีผู้ชำนาญนำทางไปด้วย เมื่อได้ขึ้นไปมีจุดแนะนำอยู่ตรง “หินสามวาฬ” พื้นที่ชมวิวใหม่ของภูสิงห์ ที่กำลังเตรียมเปิดตัวในเร็ววันนี้ มีลักษณะคล้ายวาฬโมบี้ดิ๊ก 3 ตัวทอดยาวบนพื้นโลก

คณะสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวนำโดย นิพนธ์ คนขยัน อบจ.บึงกาฬ (เสื้อสีม่วง) และพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกฯ และ นายกสมาคมวัฒนธรรมเศรษฐกิจไทย-จีน (เสื้อยืดลายขวาง)

ต่อจากอำเภอเมืองบึงกาฬและต้องเป็นอำเภอบุ่งคล้า อันเป็นพื้นที่ตั้งของ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว” ป่าผืนใหญ่ของจังหวัดบึงกาฬ และเป็นป่าอนุรักษ์ที่สมบูรณ์ที่สุดอีกหนึ่งแห่งของภาคอีสาน ห่างจากภูสิงห์ประมาณ 36 กิโลเมตร ภายในมีน้ำตกสวยงามหลายแห่ง อาทิ น้ำตกชะแนน เป็นน้ำตกขนาดใหญ่สุด, น้ำตกเจ็ดสี (อำเภอเซกา)

หากยังไม่จุใจกับแหล่งท่องเที่ยวเชิงสูงในบึงกาฬ แนะนำให้ขับรถข้ามไปยังอำเภอศรีวิไลประมาณ 26 กิโลเมตร ก็จะพบกับ “ภูทอก” สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่ง ที่มีลักษณะเป็นภูเขาหินทรายขนาดใหญ่ ด้านล่างบริเวณเชิงเขาเป็นที่ตั้งของ “วัดเจติยาคีรีวิหาร” และมีสะพานไม้สร้างวนเวียนขึ้นไปสู่ยอดเขาทั้งสิ้น 7 ชั้น ด้านบนมีกุฏิและถ้ำที่อยู่ตามหลืบผาและสามารถมองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างได้ไกลสุดลูกหูลูกตา หากเป็นวันที่อากาศแจ่มใสสามารถมองเห็นเทือกเขาในจังหวัดนครพนมได้เลยทีเดียว

ทว่าใครไม่มีแรงพอจะพิชิตภูทอกทั้ง7ชั้นก็สามารถเดินชมและสักการะ “เจดีย์พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ” พระอาจารย์ผู้บุกเบิกภูทอกแห่งนี้ได้เช่นกัน

ขยับต่อมาอีกประมาณ 40 กิโลเมตร ใกล้รอยต่อระหว่างบึงกาฬกับนครพนม เป็นพื้นที่ของอำเภอบึงโขงหลง มีสถานที่ท่องเที่ยวในชื่อเดียวกันอย่าง “บึงโขงหลง” ทะเลสาบขนาดใหญ่อันเป็นพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์นก โดยเฉพาะนกเป็ดน้ำที่ย้ายถิ่นเข้ามาในช่วงฤดูหนาว รวมถึงห่านป่า, นกยาง, นกกระเต็น ฯลฯ ซึ่งสามารถมาพักดูนกเหล่านี้ได้บริเวณดอนสวรรค์ เป็นการปิดท้ายทริป On the Road ตะลุยบึงกาฬอย่างสมบูรณ์แบบ

ส่วนคนที่ยังไม่จุใจกับเส้นทางท่องเที่ยวของบึงกาฬและต้องการความท้าทายมากกว่านี้สามารถข้ามแม่น้ำโขงไปยังเชียงขวางเมืองกลางขุนเขาทางเหนือของประเทศลาวซึ่งมีทัศนียภาพรอบตัวเต็มไปด้วยธรรมชาติและอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปีได้อีกด้วย

http://m.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1422329558

 ‘>

คอลัมน์วันนี้ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด