ถึงจะจบวิศวะ ทำงานเป็นนักบินในบริษัทเอกชน กินเงินเดือนถึงสองแสนบาท…โฆษิต ชนะหาญ นักบินพาณิชย์ตรี วัย 30 ต้นๆ ไม่วายหวนกลับมาเป็นชาวสวนยาง ต.โซ่ อ.โซ่-พิสัย จ.บึงกาฬ ทั้งๆที่วันนี้ใครๆไม่อยากมอง ด้วยราคายางร่วงไม่หยุด
“ที่บ้านมีสวนยาง 30 กว่าไร่ เวลาว่างกลับมาจากต่างประเทศมักจะมานั่งเล่นในสวนยางสบายใจกว่าใช้ชีวิตวุ่นวายในเมือง แต่พอมองเห็นพ่อแม่ขายยางไม่ได้ราคา เพราะขายเป็นยางก้อนถ้วย ได้ กก.ละ 20 บาท จึงมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรให้พ่อแม่และญาติขายยางได้ราคามากขึ้น”
เมื่อเห็นว่าวิธีการนำยางก้อนถ้วยที่มีราคาถูกมาทำเป็นยางเครพ (Crepe Rubber) ด้วยการนำไปเข้าเครื่องเครพยาง ที่มีสองลูกกลิ้งรีดเอาน้ำออก พร้อมกับนำสิ่งสกปรกออกจากยาง ได้เป็นยางแปรรูปที่ขายได้ราคาสูงกว่ายางก้อนถ้วย กก.ละ 4 บาทเป็นอย่างน้อย
เพราะยางเครพสามารถนำไปผลิตเป็นยาง STR และยางอย่างอื่นได้มากมาย
“แต่บ้านเรายังไม่มีผู้ประกอบการรายไหนสร้างเครื่องเครพยางจำหน่าย ส่วนใหญ่จะไปซื้อของมือสองจากมาเลเซีย แล้วมาประกอบขายให้เกษตรกรในราคาเครื่องละ 3-5 แสนบาท แต่ใช้ได้ไม่นานเครื่องมักเสีย เวลาซ่อม หาอะไหล่ได้ยากมาก จากประสบการณ์เดินทางบ่อย ได้ไปเห็นเครื่องเครพยางในหลายประเทศ เราเองจบวิศวะมา เครื่องจักรแบบนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนมากมาย น่าจะทำเองได้ จึงตัดสินใจสร้างเครื่องเครพยางขึ้นมาเป็นรายแรกของประเทศไทย ใช้ชื่อว่า “ยิปต้า” โดยเอาแบบเครื่องเครพในแต่ละประเทศมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีกว่าของเขา”
หลังจากใช้เวลาลองผิดลองถูกกว่า 2 ปี ในที่สุดได้เครื่องเครพยางที่มีลูกกลิ้ง 2 ลูก น้ำหนักลูกละ 1 ตัน หนักและใหญ่กว่าของต่างประเทศ เลยรีดยางออกมาเป็นแผ่นได้รวดเร็วและสม่ำเสมอ มีมอเตอร์ทนทานกว่าของต่างประ- เทศ และมีให้เลือกหลายขนาด ตั้งแต่ 10 แรงม้าไปจนถึง 50 แรงม้า”
โฆษิต บอกอีกว่า การทำเครื่องเครพยางรุ่นแรกที่อออกมาใช้ มีกำลังการผลิต 1 ตันต่อ 1 ชม. รู้สึกมันยังน้อยไป จึงได้ลงมือปรับปรุงให้กลายมาเป็นรุ่นที่สองในปัจจุบัน กำลังผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2 ตันต่อ ชม.
ที่สำคัญ ทำให้ยางก้อนถ้วย 10 กก.กลายเป็นยางเครพน้ำหนัก 8 กก. ขณะที่เครื่องเครพต่างประเทศจะได้แค่ 6–7 กก.
มีอายุใช้งานมากกว่า 10 ปี ถึงจะซ่อมสักครั้งหนึ่ง ในขณะที่เครื่องเครพมือสองใช้ได้ไม่เกิน 5 ปี ต้องซ่อมบำรุง บางเครื่องซ่อมไม่ได้ต้องทิ้งไปเลย สนใจข้อมูลติดต่อ 08-4894-3456 หรือwww.yipta.com
ไชยรัตน์ ส้มฉุน’>