หนองกุดทิง จ.บึงกาฬ
หนองกุดทิง ห่างจากตัวอำเภอเมืองบึงกาฬ ๕ กิโลเมตร เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ๒๒,๐๐๐ ไร่ ลึก ๕ – ๑๐ เมตร มีความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วยสัตว์น้ำกว่า ๒๕๐ สายพันธุ์ ปลาที่เป็นเอกลักษณ์ไม่มีที่ใดในโลก ๒๐ สายพันธ์ พืชน้ำกว่า ๒๐๐ ชนิด นกพันธุ์ต่าง ๆ กว่า ๔๐ ชนิด และเป็นที่ประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่กว่า ๒,๐๐๐ ครัวเรือน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวจึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (พื้นที่แรมซาร์) สำคัญของโลกแห่งที่สองของจังหวัดหนองคาย และแห่งที่ ๑๑ ของประเทศไทย
รายละเอียดสถานที่ท่องเที่ยว :
“กุด” เป็นภาษาท้องถิ่น หมายถึง บริเวณที่น้ำจากลำห้วยหลายสายไหลมารวมกันกลายเป็นแอ่งน้ำ บึง หรือหนองน้ำขนาดใหญ่ คำว่า “ทิง” สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “กระทิง” กุดทิง จึงมีความหมายว่า เป็นแหล่งน้ำที่มีวัวกระทิงลงมากินน้ำเป็นจำนวนมาก
หนองกุดทิง มีเนื้อที่ประมาณ 16,500 ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ห่างจากตัวอำเภอบึงกาฬ ประมาณ 5 กิโลเมตร มีรูปร่างที่มองจากทางอากาศ คล้ายกับปีกผีเสื้อ หนองกุดทิงมีระบบนิเวศที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ระดับความลึกของแหล่งน้ำประมาณ 2 – 5 เมตร และในฤดูน้ำหลาก อาจลึกมากสุดถึง 10 เมตร เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์น้ำกว่า 250 สายพันธุ์ พืชน้ำกว่า 200 ชนิด นกหลายหลากพันธุ์ ประชากร ประมาณ 23,000 คน จากชุมชนกว่า 40 ชุมชน ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิงในด้านต่างๆ เช่น ใช้เป็นแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ ซึ่งก่อเกิดเป็นความมั่นคงทางอาหาร ทางสังคมและเศรษฐกิจต่อชุมชนเหล่านั้น
อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) เป็นอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ มีการประชุมและร่างปฏิญญาครั้งแรกที่เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน เมื่อปี พ.ศ. 2514 มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำของโลกโดยส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด เนื่องจากพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นระบบนิเวศที่ประกอบด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรมและสังคมที่ดำรงคุณค่านานัปการ ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 นับเป็นลำดับที่ 110 ของภาคีอนุสัญญาฯ โดยเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำควนขี้เสียน ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทย
สำหรับหนองกุดทิง ได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ลำดับที่ 12 ของประเทศไทย และลำดับที่ 1733 ของโลก ในปี พ.ศ. 2551
ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดิน:
ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบกุดทิง ได้พึ่งพาอาศัยพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การทำประมง คิดเป็นร้อยละ 11 ของครัวเรือนทั้งหมดในพื้นที่เป้าหมายโครงการ ฯ มีการใช้ประโยชน์จากของป่าและพืชน้ำ นอกจากนี้ยังในช่วงฤดูแล้ง บริเวณโดยรอบพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง ถูกใช้เป็นพื้นที่ทำการเกษตรระยะสั้น โดยทำการเพาะปลูกมะเขือเทศ แตงโม ซึ่งมีการใช้ยาฆ่าแมลง และสารเคมีเป็นจำนวนมาก จนน่าเป็นห่วงว่าจะมีการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ
พรรณพืชที่พบ:
พรรณพืชน้ำ: จากการศึกษาพบ พืชน้ำ 59 ชนิดในพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ และพบพืชชนิดใหม่ คือ“ต้นเล็บม้า” (Caldesia sp.) และสาหร่ายข้าวเหนียวดอกม่วง สังคมพืชน้ำที่พบในกุดทิง แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ ประเภทไม้พุ่ม และพืชชายน้ำ พบจำนวน 37 ชนิด พืชลอยน้ำ จำนวน 11 ชนิด พืชใต้น้ำ จำนวน 11 ชนิด และพันธุ์ไม้ปริ่มน้ำ จำนวน 6 ชนิด พรรณไม้เด่นที่พบในพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง ได้แก่ สาหร่ายเทปยักษ์ หรือ หญ้าเฟือย (Vallisneria spiralis) และ สาหร่ายข้าวเหนียวดอกเหลือง (Utricularia auria)
ในจำนวนพืชน้ำทั้ง 59 ชนิดที่พบเหล่านี้ อย่างน้อย 22 ชนิด ที่ชุมชนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นำมาบริโภค เป็นอาหารสัตว์ หรือเป็นวัตถุดิบในการผลิตงานหัตถกรรม นอกเหนือจากลักษณะเด่นในด้านสังคมพืชน้ำแล้ว ทางด้านตะวันออกของพื้นที่ชุ่มน้ำยังปกคลุมด้วยป่าดิบแล้งที่ราบต่ำ ประมาณ 50 ไร่ ถือว่าเป็นหย่อมป่าผืนใหญ่แห่งเดียวที่ยังคงเหลือในบริเวณนี้ บางส่วนบริเวณชายฝั่งของพื้นที่ชุ่มน้ำยังพบพันธุ์ไม้ต่างถิ่นที่รุกราน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพืชพื้นเมืองได้ คือ ไมยราพยักษ์ (Mimosa pigra)
พรรณสัตว์ที่พบ:
เนื่องด้วยกุดทิงมีระบบนิเวศที่หลากหลายของสังคมพืชน้ำ มีสภาพพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำโขงทำให้พื้นที่แห่งนี้มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำ อาทิเช่น พบปลาน้ำจืด ประมาณ 103 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นปลาประจำถิ่นและปลาอพยพที่มาจากแม่น้ำโขง มากกว่า 56 ชนิด เป็นปลาเศรษฐกิจ เพื่อใช้ในการบริโภคในครัวเรือน และจำหน่าย นอกจากนี้ยังมีการนำปลามาแปรรูปในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปลาตากแห้ง และปลาร้า ซึ่งเป็นการถนอมอาหารอีกประเภทหนึ่งของชุมชนที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้
การสำรวจพรรณปลาในพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง ยังพบพันธุ์ปลาน้ำจืดขนาดเล็กที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก หรือเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังที่เล็กที่สุดของประเทศไทย ได้แก่ ปลาซิวแคระ (Boraras micros) และ ปลายี่สก ซึ่งตกอยู่ในภาวะล่อแหลมต่อการถูกคุกคามและปลาประจำถิ่นแม่น้ำโขงอีก 9 ชนิด นอกจากพรรณปลาชนิดต่างๆ แล้ว ในพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ยังเป็นแหล่งพันธุกรรมที่สำคัญของ กุ้งน้ำจืด 3 ชนิด คือ กุ้งฝอยเล็ก (Caridina laevis) กุ้งฝอยใหญ่ (Macrobrachium lanchesteri) และกุ้งฝอยแดง(M. thai) ซึ่งกุ้งทั้ง 3 ชนิด ชุมชนท้องถิ่นได้มาบริโภคและจำหน่ายอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ ปลาซิวแคระ สัตว์มีกระดูกสันหลังที่เล็กที่สุดของไทยปลาบู่กุดทิง ปลาบู่แคระปลาซิวแก้วปลาซิวหางกรรไกรเล็กปลากัดอีสาน ปลาปักเป้าควาย ปลาสร้อยปีกแดงและปลาเหล็กในมิเพียงแต่ความหลากหลายของพรรณสัตว์น้ำเท่านั้น พื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ยัง เป็นแหล่งรวมของนกอพยพและนกประจำถิ่นอีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น นกเป็ดน้ำ เหยี่ยว และนกน้ำอื่นๆ อีกมากว่า 100 ชนิด ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลการประมงคลิ๊กที่นี่
ผลกระทบและภัยคุกคาม:
ปัญหาหลักที่สำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ได้แก่ การทำประมงเกินขนาด (Overfishing) ซึ่งหมายถึง จำนวนชาวประมง และเครื่องมือหาปลามีจำนวนมากเกินไป นอกจากนี้ยังร่วมถึงการใช้ ใช้เครื่องมือประมงที่ไม่เหมาะสม เช่น การช๊อตปลา รวมถึงสารเคมีจากการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกมะเขือเทศ และยางพารา รอบพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งอาจปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำได้ กิจกรรมการเลี้ยงสัตว์รอบบึงกุดทิงอาจส่งผลกระทบต่อสังคมพื้นน้ำ รวมไปถึง สัตว์ และพืชต่างถิ่นที่รุกนาน ได้แก่ หอยเชอรี่ ไมยราพยักษ์ และผักตบชวา
การดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์:
จากการศึกษาของชุมชนและองค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลกประจำประเทศไทย (WWF) พบว่าพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิงมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยพบพรรณพืชน้ำ 59ชนิด และพบพืชชนิดใหม่ คือ ต้นเล็บม้า (Coldesia sp.) และสาหร่ายข้าวเหนียวดอกม่วง ปลาน้ำจืดประมาณ 123 ชนิด และเป็นแหล่งพักพิงของนกอพยพและนกประจำถิ่น มากกว่า 100 ชนิด เป็นแหล่งรองรับและกักเก็บน้ำและเป็นแหล่งประมงที่สำคัญของชุมชนในพื้นที่ ปัจจุบันมีแนวโน้มกำลังถูกคุกคามจากการบุกรุกและใช้ประโยชน์ ดังนั้นเพื่อให้สามารถนำมาตรการการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติตามมติคณะรัฐมนตรีฯ มาใช้ในการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิงจึงจำเป็นต้องยกระดับให้พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ข้อมูลเพิ่มเติม คลิ๊กที่นี่
ในการประชุมคณะกรรมการการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดหนองคาย ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2550 โดยมีนาย มานิตย์ มกรพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานคณะกรรมการฯ และมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กำนันตำบลโคกก่อง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกก่อง กำนันตำบลโนนสมบูรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโนนสมบูรณ์ กำนันตำบลโสกก่าม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโสกก่าม กำนันตำบลบึงกาฬ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบึงกาฬ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดหนองคาย หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เสนอพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ไซต์ โดยครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 16,533 ไร่ 1 งาน ตามแนวเขตหนังสือสำคัญที่หลวง (น.ส.ล.) เนื่องจากกุดทิงมีคุณสมบัติทางนิเวศวิทยาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศตามความเห็นของการประชุมประจำเดือนของอำเภอบึงกาฬ ซึ่งมีหัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล อาสาสมัคร และผู้นำชุมชน 2 ครั้ง ในวันที่ 30 พฤศจิกายน และ 4 ธันวาคม 2549 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 450 คน
จังหวัดหนองคาย มีหนังสือที่ นค 0013/8707 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 ขอเสนอพื้นที่กุดทิงขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการขอความเห็นจากคณะทำงานวิชาการพื้นที่ชุ่มน้ำ และคณะอนุกรรมการการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้รับความเห็นชอบในการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิงให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและแรมซาร์ไซต์
คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้มีมติในคราวการประชุมครั้งที่ 5/2551 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน2551 เห็นชอบกับการเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง จังหวัดหนองคาย เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ไซต์ ตามความเห็นของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและให้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป
คณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 26 พฤษภาึคม 2552 มีมติเห็นชอบในการเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิงจังหวัดหนองคาย เป็นพื้นที่ชุึ่่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างการประสานงานกับสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือ (Ramsar Site) ต่อไป
แผนที่ จุด A แสดงที่ตั้ง :