LINE : ติดต่อผู้ดูแล

ยินต้อนรับเว็บไซต์ข่าวสารเพจข่าวท้องถิ่นบึงกาฬ

วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน 2024
คอลัมน์วันนี้

ตำนานภูลังกา ดินแดนแห่งพระเจ้าห้าพระองค์

_777_208

ตำนานภูลังกา
ดินแดนแห่งพระเจ้าห้าพระองค์

ความลึกลับของภูลังกา (หรือรังกา) อันเป็นดินแดนลี้ลับอย่างอาถรรพณ์ มีภูเขาห้าลูกเชื่อมโยงกันด้วยป่าไม้หนาแน่นสูงเฉียดฟ้าและหุบเหว มีเรื่องปรัมปราพื้นบ้านเล่าสืบทอดกันมาว่า

ภูลังกาในสมัยดึกดำบรรพ์ยุคสร้างโลก เป็นที่สถิตอยู่ของ “รังกาเผือก” มีไข่ ๕ ฟอง วันหนึ่งขณะที่กาเผือกสองผัวเมียออกไปหาอาหาร ได้เกิดลมพายุพัดเอารังกาพลิกไหว ไข่ทั้ง ๕ ฟองปลิวไปตามลมแรง กระจัดกระจายไปตกลงยังที่ต่างๆ

ไข่ฟองที่ ๑ ไปตกยังถิ่นของแม่ไก่ แม่ไก่นำไปเลี้ยงไว้ ต่อมาก็คือ พระกกุสันธพุทธเจ้า

ไข่ฟองที่ ๒ ไปตกในเมืองพญานาค ท้าวพญานาคนำไปเลี้ยงไว้ ต่อมาได้เป็น พระโกนาคมนพุทธเจ้า

ไข่ฟองที่ ๓ ไปตกในแดนของเต่า พญาเต่านำไปเลี้ยงไว้กลายเป็น พระกัสสปพุทธเจ้า

ไข่ฟองที่ ๔ ไปตกในแดนแม่โค แม่โคนำไปเลี้ยงไว้ ต่อมากลายเป็น พระสมณโคตมพุทธเจ้า และ

ไข่ฟองที่ ๕ ไปตกในแดนของพญาราชสีห์ พญาราชสีห์นำไปเลี้ยงไว้กลายเป็น พระศรีอริยเมตไตรย รวมเป็นพระเจ้า ๕ พระองค์

เรื่องภูลังกาที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้า ๕ พระองค์นี้ เป็นเรื่องพื้นถิ่น ความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาบันดาลใจให้ชาวบ้านเทิดทูนพระพุทธเจ้า ต้องการให้เห็นว่าพื้นถิ่นของตนนั้น มีความผูกพันเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์อยู่ตลอดไป ก็เลยเป็นว่าภูลังกาเป็นที่เกิดของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์

• ภูลังกา…ดินแดนพิสูจน์คนกล้า พระแกร่ง

ภูลังกา เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระป่าอันสัปปายะวิเวก ที่ครูบาอาจารย์สมัยก่อนชอบแวะเวียนไปอยู่เสมอ ถึงแม้จะลำบากในเรื่องอาหาร ต้องอดแห้งอดแล้ง ท้องกิ่วเหมือนฤๅษีชีไพร และอาหารที่ไปบิณฑบาตมาได้จะเป็นเพียงข้าวเหนียว ๑ ก้อนเล็กๆ กับเกลือและพริก ได้มาแค่ไหนก็ฉันกันแค่นั้น ไม่คิดมาก ไม่ถือว่าเรื่องอาหารเป็นอุปสรรคในการเจริญภาวนา เพราะจิตมีความมุ่งหมายอยู่ที่การขูดเกลากิเลสตัณหา ความทะยานอยากให้หมดไป เพื่อพ้นทุกข์ จิตสะอาดบริสุทธิ์ สว่าง สงบ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ดังนั้น พระป่าจึงไม่มีการบ่นว่าหิวเหลือเกิน อ่อนเพลีย ไม่มีแรงจะเป็นลม ต่างก็หุบปากเงียบ เฝ้าแต่เดินจงกรมกับนั่งสมาธิภาวนา กำหนดสติรู้คอยระมัดระวังกิเลสตัณหาในตัวเองอยู่ตลอดเวลา รู้เท่าทันกิเลส ใช้ขันติ ความอดทน อดกลั้นในทุกสถานการณ์ ไม่ทำตามกิเลสทุกรูปแบบ บังคับตัวเองได้ เป็นนายตัวเองได้ ถ้าเจ็บไข้ อาพาธ ไม่ต้องไปหาหยูกยาใดๆ รักษาตัวเองด้วยการนั่งสมาธิภาวนาสลับกับเดินจงกรม ไม่ฉันอาหารเพื่อให้กระเพาะลำไส้ได้หยุดพักผ่อน เรียกว่า รักษาด้วยธรรมโอสถ หายก็ดี ไม่หายก็ตาย ถ้าตายก็หายห่วง จะได้ดับให้สนิทไปเลยไม่ต้องกลับมาเกิดอีก ความตายไม่ใช่สิ่งน่ากลัวอะไร !

• ภูลังกา ธรรมสถานแห่งพระอริยะ

พระป่าในสายของหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ ได้เคยไปอยู่จำพรรษาหรือไปเพื่อการวิเวกบนภูลังกาหลายองค์ เช่นพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร หลวงปู่สิม พุทธาจาโร หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม หลวงปู่ชา สุภัทโท เป็นต้น

รูปภาพ
พระอาจารย์ชา สุภัทโท

• พระอาจารย์ชา สุภัทโท ปรารถนาพบพระอาจารย์วัง

พระอาจารย์ชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ อายุได้ ๓๑ ปี พรรษาที่ ๑๑ ได้เดินธุดงค์ออกจากวัดป่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม บุกป่าฝ่าดงขึ้นสู่ภูลังกาใกล้กับบึงโขงหลง เหตุที่พระอาจารย์ชาต้องบุกป่าฝ่าแดนอันตรายด้วยไข้ป่าและสัตว์ร้ายไปภูลังกา ก็เพราะว่าอยากจะพบปะสนทนากับพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร ผู้มีชื่อเสียงเลื่องลืออยู่ในหมู่นักธรรมกรรมฐานว่า ท่านเป็นผู้ปฏิบัติธรรมขั้นอุกฤษฏ์ เชี่ยวชาญในเจโตสมาธิ ทั้งในด้านสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ปรารถนาพุทธภูมิ

ตอนนั้นพระอาจารย์ชายังไม่เคยเห็นหน้าพระอาจารย์วังมาก่อนเลย เคยได้ยินแต่ชื่อเสียงอันบันลือของท่านเท่านั้น พระอาจารย์ชามีความปรารถนาอยากจะพบพระอาจารย์วังให้ได้ ระยะเวลานั้น พระอาจารย์ชามีความสับสนในธรรมปฏิบัติมาก ต้องการหาใครก็ได้ที่พอจะเป็นกัลยาณมิตร ช่วยชี้แนะแนวทางปฏิบัติธรรมให้ เหมือนกับว่าเดินไปถึงจุดๆ หนึ่งแล้วมีอันต้องสะดุดหยุดชะงักลง ไม่สามารถเดินต่อไปได้ มันมืดแปดด้าน ก็ระลึกถึงพระอาจารย์วังที่ขึ้นไปนั่งบำเพ็ญเพียรบนยอดภูลังกา แม้จะยังไม่เคยเห็นความแกร่งกล้าในการบำเพ็ญเพียรของพระอาจารย์วัง ว่าบรรลุถึงขั้นใดแล้วก็ตาม แต่พระอาจารย์ชาก็เชื่อมั่นอย่างหนึ่งว่า พระอาจารย์วังคงต้องมีดีอย่างใดอย่างหนึ่ง มิฉะนั้นคงไม่ขึ้นมาอยู่บนยอดเขา

เมื่อขึ้นไปถึงถ้ำชัยมงคลบนยอดภูลังกาแล้ว ก็ได้พบว่าพระอาจารย์วังอยู่กับสามเณรเพียง ๒ รูปเท่านั้น บรรยากาศบนภูลังกาเงียบสงบ อากาศดี เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรยิ่งนัก พระอาจารย์ชาได้ปรารภถึงความสับสนของตนในการบำเพ็ญเพียรภาวนา จึงได้บุกบั่นมาเพื่อขอให้พระอาจารย์วังช่วยชี้แนะนำทางที่ถูกที่ควรให้

พระอาจารย์วังได้ถามฉันเมตตาจิตว่า ความสับสนนั้นเป็นประการใด

พระอาจารย์ชาได้กล่าวว่า การทำสมาธิภาวนาเหมือนสะดุดอยู่กับที่ ไม่มีที่ไป แม้ย้อนกลับมาเริ่มต้นใหม่เพื่อหาทางต่อไป แต่ก็ไม่อาจทำได้ ยังคงหยุดอยู่กับที่เช่นเดิม

พระอาจารย์วังได้นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง หลับตากำหนดรู้ด้วยกระแสญาณ แล้วลืมตาขึ้น ได้ให้คำชี้แนะแก่พระอาจารย์ชาว่า ไม่ต้องกำหนดจิตไปไหน ให้หยุดอยู่ตรงนั้นแหล่ะ กำหนดรู้อยู่ตรงนั้นแล้วมันก็จะเปลี่ยนไปเอง เราไม่ต้องไปบังคับใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ให้กำหนดรู้ว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง เดี๋ยวจิตมันก็เปลี่ยนไปเอง เราไม่ต้องไปวุ่นวายอะไร อย่าเข้าใจว่าหมดสิ้นแล้วเดี๋ยวมันจะมีขึ้นอีก เพียงแต่กำหนดสติรู้แล้วปล่อยวาง มันจะไม่เป็นอันตรายถ้าเราไม่วิ่งตามมัน

พระอาจารย์ชาได้สดับตรับฟังแล้ว มีความรู้สึกว่าความสับสนวุ่นวายในจิตได้หายไปเป็นปลิดทิ้ง เกิดความเข้าใจในความละเอียดอ่อนลึกซึ้งในธรรมปฏิบัติมากขึ้น มีความสบายอกสบายใจ ไม่รุ่มร้อนดังแต่ก่อน ได้กำหนดในใจว่า จะอยู่บำเพ็ญเพียรบนภูลังกาสัก ๓ วัน ต่อจากนั้นจะออกจาริกธุดงค์ต่อไป ไม่ติดที่อยู่อาศัย ท่องเที่ยวไปตามลำพังแต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท เพียรพยายามเผากิเลสเพื่อทำให้รู้แจ้งถึงที่สุดพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม อันเป็นสุดยอดปรารถนาของเหล่ากุลบุตรทั้งหลายผู้ออกบวชเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา

พระอาจารย์ชาได้พยามบำเพ็ญธรรมอย่างหนัก เร่งทำความเพียรทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อให้ได้ผลเร็วขึ้น เมื่อมาอยู่ใกล้พระอาจารย์วังผู้ล้ำลึกในธรรม ควรที่จะตักตวง มีอะไรสงสัยจะได้ถามท่านได้และก็ไม่ได้ผิดหวังเลย พระอาจารย์วังได้ให้ความกระจ่างในการปฏิบัติธรรมมากขึ้น ทำให้พระอาจารย์ชาได้หลักการอย่างหนึ่งว่า นักปฏิบัติธรรมนั้นไม่สามารถจะไปเจริญภาวนาคนเดียวได้ แม้จะภาวนาได้ก็จริง แต่ชักช้าเนิ่นนานมาก แต่ถ้ามีกัลยาณมิตรคอยช่วยชี้แนะแนวทางให้ การปฏิบัติธรรมก็จะไปเร็วขึ้น ไปสู่ทางที่ปรารถนาเร็วขึ้น

อยู่ครบ ๓ วันแล้ว พระอาจารย์ชาก็กราบลาพระอาจารย์วังลงมาจากภูลังกา ออกเดินธุดงค์แสวงหาโมกขธรรมต่อไป ดังที่พระบรมศาสดาได้ตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย หากพวกเธอจักมีใจจดจ่ออยู่ในเสนาสนะป่าอยู่เพียงใด ความเจริญก็เป็นสิ่งที่เธอทั้งหลายหวังได้ ไม่มีความเสื่อมเลย พึงเที่ยวไปคนเดียวดุจช้างม้าตังคะที่เที่ยวไปในป่าตัวเดียว เป็นสัตว์มักน้อยฉะนั้น”

รูปภาพ
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

• หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

หนังสือ ๑๐๐ ปี หลวงปู่สิม พุทธาจาโร ได้กล่าวถึงการไปจำพรรษาของท่านบนภูลังกาไว้ว่า เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๗ อายุ ๔๕ ปี พรรษาที่ ๒๖ เดินทางกลับบ้านบัว เพื่อดูแลและเทศนาสั่งสอนอบรมสมาธิให้แก่โยมแม่เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนเข้าพรรษาโยมแม่ก็เสียชีวิต ได้จัดการฌาปนกิจศพโยมแม่เสร็จแล้วจึงตั้งใจไปจำพรรษาที่ภูลังกา บ้านโพธิ์หมากแข้ง ตำบลบึงโขงหลง อำเภอเซกา (ในขณะนั้น) จังหวัดหนองคาย ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านบัวประมาณ ๗๐ กิโลเมตร ได้ไปแวะที่วัดศรีวิชัยก่อนขึ้นไปจำพรรษาที่ภูลังกา เดินทางร่วมกับพระอาจารย์สวนและตาผ้าขาว ได้เลือกชะโงกหินเหนือถ้ำชัยมงคล บนยอดภูลังกาของ พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร สหธรรมมิกที่เคยร่วมกองทัพธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ เป็นที่จำพรรษา พระอาจารย์วังเคยจำพรรษาอยู่ก่อนถึง ๕-๖ ปี ซึ่งต้องเดินขึ้นที่สูงเต็มไปด้วยโขดผาหิน ต้องไต่เขาและปีนป่ายขึ้นที่สูงชัน ใช้เวลาหลายชั่วโมง ในสมัยนั้นในป่าเขาเต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด อีกทั้งเป็นฤดูฝน หนทางขึ้นลงก็ลำบาก ยากต่อการบิณฑบาต ความเป็นอยู่การขบฉันเป็นด้วยความลำบากยากแค้น มีชาวบ้านปวารณาตัว จึงนำเสบียงอาหารใส่เกวียน เดินทางจากหมู่บ้านศรีเวินชัยไปถึงภูลังกาใช้เวลา ๑ วัน ขึ้นไปส่งให้อาทิตย์ละครั้ง ต้องนอนพักค้างแรมอีก ๑ คืน อาหารหลัก คือ หน่อไม้ ลูกคอนแคน ยอดคอนแคนจิ้มน้ำพริก ตลอดจนหัวกลอย เป็นต้น แต่การภาวนาที่นี่เป็นที่พอใจมาก “ปรากฏธรรมอัศจรรย์” ขึ้น ณ ที่แห่งนี้ ปัจจุบันยังมีลายมือหลวงปู่สิมที่เขียนไว้ว่า “ถ้ำอยู่เย็นเป็นสุข ถ้ำอาจารย์สิม” ณ เงื้อมชะโงกผา ที่ท่านปักกลดจำพรรษาตลอดพรรษานั้น ยังคงปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบันนี้

• หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เคยมาจำพรรษาบนภูลังกา

จากประวัติ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้บันทึกการมาปฏิบัติธรรมของท่านบนภูลังกาเอาไว้ว่า หลวงปู่ตื้อท่านเจริญกัมมัฏฐานมาหลายปีทีเดียว แต่จะเป็นพรรษาที่เท่าไรนั้นท่านก็มิได้บอกให้ทราบ ท่านเล่าแต่เพียงว่าเมื่อครั้งที่ท่านจำพรรษาที่ภูลังกา ท่านก็ได้ทำความเพียร ในขณะที่เร่งทำความเพียรอยู่ที่ภูลังกานั้น ถึงกับไม่ฉันข้าว ฉันน้ำ ท่านว่ามันจึงจะรู้จักโลก แจ้งโลก พอจิตบรรลุถึง “โคตรภูญาณ” จิตก็รู้ได้หมดได้ทั่วไปว่า วิญญาณพวกไหนที่อยู่ในโลก ก็สามารถรู้จักและเห็นหมดในโลกธาตุว่าเป็นอยู่อย่างไร

รูปภาพ
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม

รูปภาพ
หลวงปู่สังข์ สังกิจโจ

รูปภาพ
หลวงปู่สีลา อิสฺสโร

รูปภาพ
หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม

• หลวงปู่สังข์ ออกธุดงค์มาถึงภูลังกา

จากประวัติ หลวงปู่สังข์ สังกิจโจ ได้บันทึกว่า พรรษาแรกที่บรรพชาเป็นสามเณรอยู่วัดอรัญญวิเวก บ้านข่า หลังจากออกพรรษาแล้ว เคยไปกราบครูบาอาจารย์หลายรูป อาทิ หลวงปู่สีลา อิสฺสโร หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม เป็นต้น จากนั้นได้ไปเที่ยวรุกขมูลกับ พระอาจารย์บุญส่ง โสปโก ตามทางหลวงปู่ตื้อเคยไป เช่น บึงโขงหลง แล้วไปถึงภูลังกา ได้พบกับพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร ที่ถ้ำชัยมงคล

• หลวงปู่คำพันธ์ ธุดงค์ผ่านภูลังกา

จากประวัติ หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ บันทึกว่า ท่านได้เดินรุกขมูลขึ้นไปตามลำแม่น้ำโขง เข้าเขตอำเภอบ้านแพงขึ้นภูลังกา ยามเย็นได้ไปยืนอยู่ที่หน้าผาฝั่งตะวันตกในเขตบึงโขงหลง มองลงมาข้างล่าง เห็นฝูงช้างจำนวนมาก บางตัวก็มีลูกอ่อน พากันหักต้นกล้วยป่ากินเป็นอาหารแบบสบายอารมณ์ ฝูงละ ๕ ตัวบ้าง ๖ ตัวบ้าง

จากการค้นคว้าประวัติครูบาอาจารย์ ทำให้รู้ว่าอาณาบริเวณถ้ำชัยมงคลโดยรอบ คือ ดินแดนที่พระอริยสงฆ์แต่อดีตถึงปัจจุบันได้ขึ้นมาบำเพ็ญเพียรภาวนามิได้ขาด น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ ดินแดนแห่งนี้กลับกลายเป็นแหล่งหาผลประโยชน์ของบุคคลบางกลุ่มไปเสียแล้ว

• พระอาจารย์โง่น โสรโย ระลึกถึงอาจารย์

ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๙๖ เป็นเวลา ๙ ปีที่พระอาจารย์วังจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำชัยมงคล ยอดภูลังกา มีพระภิกษุสามเณรเที่ยววิเวกแสวงธรรมแวะเวียนมาพักปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์วังตลอด มีช่วงหนึ่งที่ พระอาจารย์โง่น โสรโย ได้แวะกลับมาเยี่ยมพระอาจารย์วังซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่าน หลังจากทราบข่าวว่าพระอาจารย์วังได้ขึ้นมาจำพรรษาบนภูลังกาแล้ว ท่านจึงได้ตามขึ้นไปเพื่ออยู่อุปัฏฐากรับใช้พระอาจารย์วังเป็นเวลา ๒๐ วัน ในครั้งนั้นพระอาจารย์โง่นได้นำดอกจิก ดอกรัง มาผสมกับดิน ปั้นรูปเสือและลิงเอาไว้ที่ถ้ำจนปรากฏมาถึงทุกวันนี้

รูปภาพ
หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ

รูปภาพ
(องค์กลาง) พระอาจารย์โง่น โสรโย

ที่มา : ลานธรรมจักร โพสต์โดย คุณ yodchaw’>

คอลัมน์วันนี้ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด