การไฟฟ้าจังหวัดบึงกาฬเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ และผลงานคุณภาพคิวซี เพื่อนำผลงานไปต่อยอดพัฒนาองค์กรให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และรองรับ AEC ที่จะมีโรงงานผลิตยางพาราขนาดใหญ่เข้ามาตั้งในพื้นที่ เน้นประหยัด ไม่ขัดนโยบาย มีพนักงานไฟฟ้าจาก 8 จังหวัดส่งตัวแทนเข้าแข่งขันกว่า 400 คน
บึงกาฬ/ ที่โรงแรมเดอะวัน อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ นางตวงเพชร หนองหานพิทักษ์ ผอ.ฝ่ายบัญชีและพลังงานไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 1 อุดรธานี เป็นประธานกล่าวเปิดงานแข่งขันมหกรรมคุณภาพรอบสุดท้าย เพื่อนำผลงานไปพัฒนางานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กฟภ.หรือ PEA ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดค่าใช้จ่ายและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน รวมทั้งยกระดับความปลอดภัยการทำงานให้เป็นศูนย์ (Zero Accident) เป็นการเตรียมความพร้อมด้านการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
โดยนายสมชาติ มูลศรี ประธานจัดการแข่งขันได้กล่าวรายงานว่า การแข่งขันกิจกรรมคุณภาพ จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในกระบวนการพัฒนา PEA ซึ่งประกอบไปด้วย การแข่งขันกิจกรรม 5 ส. การแข่งขันผลงานคิวซี และการประกวดนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำผลงานที่พนักงานการไฟฟ้าจังหวัดต่างๆ ร่วมกันคิดสร้างสรรค์อุปกรณ์ไฟฟ้าขึ้นมาจากประสบการณ์ในการทำงานนำไปใช้ต่อยอดให้การบริการประชาชนได้รวดเร็ว ปลอดภัยทันต่อเหตุการณ์ เช่นอุปกรณ์ตัดต่อสาย ปลอกสาย ปลด-สับฟิวส์หม้อแปลงแรงสูง เช่น เหตุการณ์ไฟไหม้บ้าน ไฟดับ สายขาด เป็นต้น เพื่อรองรับและสร้างความมั่นใจของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาตั้งโรงงานสร้างผลิตภัณฑ์จากยางพาราหลังจากเข้าสู่ AEC และเพื่อจะก้าวไปเป็นผู้นำด้านธุรกิจพลังงานจำหน่ายและบริการกระแสไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน โดยมีกลุ่มตัวแทนส่งผลงานเข้าแข่งขันดังนี้ คิวซี 33 กลุ่ม แยกเป็นสายปฏิบัติการ 16 กลุ่ม สายสำนักงาน 17 กลุ่ม นวัตกรรม 77 ชิ้นงาน แยกสิ่งประดิษฐ์ทั่วไป 66 ชิ้นงาน ประเภทอิเล็กทรอนิกส์ 6 ชิ้นงาน และ Software 5 ชิ้นงาน
ต่อมา นายสมชาย ศรีสำเริง ผู้อำนวยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 1 อุดรธานี ได้เดินทางมาเป็นประธานปิดงานและมอบรางวัลชนะเลิศให้กลุ่มต่างๆ ดังนี้ ประเภทคิวซีสายสำนักงาน รางวัลยอดเยี่ยม กลุ่มเฟืองหมุน กฟจ.เลย ทำผลงานเรื่องพัฒนาการนำเงินฝากธนาคารและการคำนวณหายอดเงินคงเหลือเพื่อโอนส่ง กฟภ. รางวัลดีเด่นกลุ่ม BND Light กฟส. อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ผลงานเรื่องพัฒนากระบวนการตรวจสอบมิเตอร์ศูนย์หน่วยสายปฏิบัติการ รางวัลยอดเยี่ยมกลุ่มคนหนุ่มไฟแรงสูง กฟอ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ผลงานเรื่องพัฒนาคุณสมบัติเครื่องมือปลอกสาย Fast Strip รางวัลดีเด่น กลุ่มมดงาน กฟจ.หนองคาย ผลงานเรื่อง เพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมสาย ประเภทสิ่งประดิษฐ์ รางวัลยอดเยี่ยมเครื่องมือขุดเจาะดินและหินเพื่อปักเสาไฟฟ้า กฟย.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น รางวัลดีเด่นเครื่องมือปลอกสายไฟโดยไม่ต้องดับไฟ กฟอ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ประเภทซอฟต์แวร์ รางวัลยอดเยี่ยมโปรแกรมพยากรณ์ประมาณการ แผนกปฏิบัติการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ กองระบบสารสนเทศ รางวัลดีเด่น โปรแกรมตรวจสอบความพร้อมใช้งานของอุปกรณ์ควบคุมอัตโนมัติในระบบจำหน่ายแรงสูงจากระยะไกล กองปฏิบัติการ ซึ่ง ผอ.กฟภ.เขต 1 ได้เน้นการสร้างนวัตกรรมนำมาใช้งานต้องประหยัดไม่ขัดนโยบาย ใช้งานได้ดี
‘>