LINE : ติดต่อผู้ดูแล

ยินต้อนรับเว็บไซต์ข่าวสารเพจข่าวท้องถิ่นบึงกาฬ

วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2024
ข่าวเด่นบึงกาฬ

กำเนิด..ถ้ำนาคา งูยักษ์แห่งภูลังกา จ.บึงกาฬ

กำเนิด “ถ้ำนาคา” อุทยานแห่งชาติภูลังกา อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ…เชื่อหรือไม่…ถ้ำนาคาเกี่ยวข้องกับยุค น้ำแข็ง? เชื่อหรือไม่…ถ้ำนาคาเกี่ยวข้องกับการยกตัวของแผ่นดิน?

อาจารย์ชัยพร ศิริพรไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องถ้ำและนักธรณีวิทยาแถวหน้าเมืองไทย ให้คำนิยามไว้ว่า

“ถ้ำ…ไม่ใช่แค่รูในภูเขา แต่เป็นที่อยู่ที่มั่นคงแห่งแรกของมนุษย์ เป็นบ้านหลังแรกในยุคแรกๆก็อยู่กันตามถ้ำ อาจจะโพรงเล็ก…โพรงใหญ่ ที่สำคัญบริเวณที่เป็นหินปูนจะเป็นหุบเขาหลุมยุบที่เกิดขึ้นได้จากธรรมชาติ

…สมมติว่ามีถ้ำอยู่ตรงกลาง พอพัฒนานานๆหลังคาถ้ำพังก็กลายเป็นที่ราบ ด้านข้างก็เป็นหน้าผาสูง พบว่าตามหน้าผาสูงๆ จะมีรูอยู่ รูเหล่านี้มักจะพบหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย”

หลังจากที่ได้โพสต์เรื่อง “พบแล้ว หัวพญานาคแห่งถ้ำนาคา” เมื่อปลายเดือน มิ.ย.2563 วันนี้ก็จะกล่าวถึง 2 ส่วนหลักๆด้วยกัน คือ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการเกิดถ้ำ หินที่เป็นลำตัวพญานาค เกล็ดพญานาค และอีกส่วนหนึ่งคือ กลไกการเกิดถ้ำ

“ถ้ำนาคา” ว่ากันถึงตัวถ้ำเป็นเพียงจุดเล็กๆ บนภูเขาหินทราย ที่มีชื่อว่า ภูลังกา ถ้ำนี้แม้จะเป็นถ้ำขนาดเล็ก และการเข้าถึงต้องเดินขึ้นเขาจากวัดชัยมงคลขึ้นไปตามบันไดที่ชันมากหลายช่วง ประมาณไม่ต่ำกว่า 600 ขั้น และจะใช้เวลาเดินขึ้นจนไปถึงถ้ำประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง แต่ก็เป็นถ้ำที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก

เชื่อได้ว่า…ที่นี่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีที่โดดเด่นมากใน อนาคตอันใกล้นี้ เพราะในถ้ำมีสิ่งที่ดูคล้าย “งูยักษ์” หรือ “พญานาค” ที่มีเกล็ดขนาดใหญ่ขดตัวกลายเป็นหินอยู่ภายในตัวถ้ำ

เรื่องราวของพญานาค…เป็นเรื่องที่คุ้นชินตามความเชื่อของผู้คนในแถบลุ่มน้ำโขงมานานแล้ว จนเกิดมีตำนาน หรือเรื่องเล่าอันเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ไม่ว่าจะเป็นตำนานการเกิดแม่น้ำโขง ที่มีตำนานของเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดของสองพญานาคและพญาแถน

แต่สำหรับ “ถ้ำนาคา” นั้น จะมีตำนานเป็นของตนเอง คือเรื่องราวของ “ปู่อือลือ” ที่ว่าท่านเป็นเทพเจ้าอยู่บนสวรรค์แต่ถูกสาปให้เป็นพญานาคมาปกครองเมืองบาดาล ที่ซึ่งมีทั้งพญานาค มนุษย์อยู่ร่วมกัน

ปัจจุบันเชื่อกันว่า…เมืองที่ว่านี้อยู่ที่บึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ ครั้น…ต่อมามนุษย์และพญานาคเกิดมีจิตพิศวาสกันจน “มีอะไรๆกัน” ท่านปู่อือลือเห็นว่าผิดจารีต ก็เลยลงโทษโดยสาปให้บริวารของตนกลายเป็นหินอยู่ในถ้ำที่อื่นๆ ในบึงกาฬเสียเลย

ศรัทธาความเชื่อรู้กันพอสังเขปแล้วก็ให้รู้กันถึงเรื่องวิชาการลักษณะทางธรณีวิทยา และถ้ำวิทยาที่เกี่ยวข้อง โดยมีประเด็นหลักๆคือ การเกิดถ้ำนาคา และ การเกิดเกล็ดพญานาค

อาจารย์ชัยพร ย้ำว่า ลักษณะทางธรณีวิทยา ชนิดของหิน…หินที่เป็นถ้ำนาคาและส่วนที่เป็นหินที่มีรูปร่างคล้ายลำตัวพญานาคที่มีเกล็ดขนาดใหญ่นั้น เป็นหินทรายสีน้ำตาลแดง ซึ่งเป็นหินที่เกิดจากการพัดพา…สะสมตัวของเม็ดดินเม็ดทรายที่เกิดจากกระแสลมในทะเลทราย

ในทางธรณีวิทยาเราจะเรียกว่า หมวดหินภูทอก เป็นหินที่เกิดในยุคครีเทเซียสตอนปลาย คือประมาณ 70 ล้านปีที่แล้วมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาท้ายๆ ของยุคที่มีไดโนเสาร์ โดยไดโนเสาร์จะสูญพันธุ์ไปในราวๆ 65 ล้านปีที่แล้วมา…หินชนิดนี้จะเกิดจากตะกอนที่เป็นเนินทราย หรือเนินดูนในทะเลทราย

…มีความสูง 5–30 เมตร สลับด้วยหินทรายที่สะสมตัวในที่ลุ่มระหว่างเนินดูนเหล่านั้น

ลักษณะเด่นคือ จะมีชั้นหินเฉียงระดับ ที่สามารถบอกทิศทางของลมที่พัดในทะเลทรายในสมัยโบราณนั้นก่อนที่จะกลายเป็นหินแข็งในภายหลัง…หินทรายบริเวณนี้ความหนาค่อนข้างมาก เนื้อหินมีความเป็นเนื้อเดียวกันและมีความพรุนสูงด้วย ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดลายบนหิน

ดูแล้วจะคล้าย…เกล็ดพญานาคตามจินตนาการของคนในแถบนี้ได้

นอกจากนั้นแล้ว ถ้าส่องดูเนื้อหินผ่านกล้องส่องพระด้วยแล้ว เราจะเห็นเนื้อหินที่ประกอบไปด้วยเม็ดแร่ควอตซ์…แร่ชนิดเดียวกับหินเขี้ยวหนุมาน ส่วนมากเป็นผลึกใส

ถัดมา…ระบบรอยแตกของหิน จากการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกในอดีตที่ทำให้หินมีการโก่งงอจนเกิดชั้นหินคดโค้งทำให้เกิดรอยแตกในแนวตั้งขึ้น 2 แนว คือแนวหลักในทิศเหนือ-ใต้ และรอยแตกร่องในทิศตะวันตก-ตะวันออก ทำให้ดูคล้ายกับกลุ่มของเส้นตรงที่ขนานกัน 2 กลุ่มมาตัดกันจนเป็นตารางสี่เหลี่ยมผืนผ้า

“การวางตัวของชั้นหินส่วนใหญ่อยู่ในแนวนอน ทำให้รอยต่อของชั้นหินแต่ละชั้นที่อยู่ติดกันเกิดมีช่องว่างระหว่างชั้นหินที่อยู่ติดกันและในภาพรวมหินทรายในบริเวณนี้จะมีความเอียงบ้างเล็กน้อยประมาณไม่เกิน 10 องศา…การเอียงตัวด้วยมุมต่ำขนาดนี้จะเป็นมุมเอียงที่จะเอื้อต่อการเกิดหลุมหินที่เรียกว่า…กุมภลักษณ์”

หลุมในแนวตั้งนี้…เวลาที่มีน้ำไหลผ่าน พัดพาเม็ดกรวดทรายมาขัดสีแบบหมุนวน ที่ผิวหน้าหินก็จะเกิดหลุมดังกล่าวได้ หรือถ้าไหลผ่านแนวรอยแตกก็จะทำให้เกิดเป็นร่องยาวและลึกที่ผิวหน้าหินได้

“แม่น้ำ…ลำธารจะเป็นตัวการที่สำคัญในการกัดเซาะเนื้อหินได้มาก และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในอดีตย้อนหลังกลับไปนับล้านปีและยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน”

การยกตัวของแผ่นดิน ระดับน้ำและสายน้ำมีอิทธิพลอย่างมาก…

ทำให้ผนังถ้ำมีลักษณะโค้งนูนออกและเว้าเข้าไปสลับกันหลายชั้น จนดูคล้ายกับลำตัวของพญานาค หรืองูยักษ์ ที่สำคัญคือ เรื่องของ “เวลา” ทำให้มีการเกิดการเปลี่ยนแปลง การสูญหายไปของสรรพสิ่งในโลก ไม่เว้นแม้แต่หินที่แข็งแกร่งที่สุด

สรุปได้ว่า…กลไกการเกิด “ถ้ำนาคา” เป็นวัฏจักรการกัดเซาะในช่วงน้ำมากน้ำน้อยในยุคโลกร้อนและยุคน้ำแข็งที่มีระดับความแตกต่างกันอยู่

ทำให้ส่วนที่โค้งนูนออกจะดูคล้ายกับลำตัวของ “งูยักษ์” หรือ “พญานาค” ประกอบกับผนังของส่วนที่คล้ายลำตัวพญานาคนั้นมี

รอยแตกคล้ายเกล็ดงู ทำให้พวกเราที่คุ้นเคยต่อเรื่องราวของพญานาคมานานแสนนาน จึงมองดูว่า…เหมือนกับพญานาคมากขึ้น

ใน “ถ้ำนาคา” มีส่วนที่เป็นหินคล้ายลำตัว “พญานาค” ประมาณ 4-5 ชั้นซ้อนกัน

ส่วน “เกล็ดพญานาค”…ด้วยความเป็นหินทรายที่มีความเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อถูกความร้อนจัดในตอนกลางวัน…เย็นตัวลงในเวลากลางคืน ผิวหน้าของหินก็จะเกิดการขยาย…หดตัวสลับกันไปมาอย่างสม่ำเสมอ

ซึ่งกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาที่ยาวนานมาก คาดว่าจะใช้เวลานับแสนปี หรือ…นานกว่านั้น

ส่งผลให้บริเวณผิวหน้าของหินมีรอยแตกคล้ายระแหงโคลนตาม

ท้องนาในหน้าแล้ง ซึ่งกระบวนการนี้มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “ซันแคร็ก”

และรูปแบบที่เห็นในที่นี้จะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ห้าเหลี่ยม หรือ หกเหลี่ยมกระจายเต็มพื้นผิวของหิน ดูคล้าย “เกล็ดพญานาค” ตามจินตนาการของผู้คนในแถบนี้ได้

ทั้งหมดเหล่านี้คือ ข้อมูลวิชาการกำเนิดถ้ำนาคา ที่ผูกโยงกับตำนาน ศรัทธา ความเชื่อที่มีต่อ “งูยักษ์” หรือ “พญานาค”…แห่ง ลุ่มแม่น้ำโขงอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย.

ขอขอบคุณที่มาบทความ  อ่านต่อที่นี่ https://www.thairath.co.th/lifestyle/travel/thaitravel/1896444

‘>

ข่าวเด่นบึงกาฬ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด