LINE : ติดต่อผู้ดูแล

ยินต้อนรับเว็บไซต์ข่าวสารเพจข่าวท้องถิ่นบึงกาฬ

วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2024
ข่าวสังคม-การเมือง

โลกหลากสี บนเส้นทางสู่ ‘ภูสิงห์-ภูทอก’ ทัวร์ออฟอีสาน บึงกาฬ คลาสสิก

1167300

โลกหลากสี  บนเส้นทางสู่ ‘ภูสิงห์ภูทอกทัวร์ออฟอีสาน บึงกาฬ คลาสสิก

สภาพภูมิประเทศที่สวยงามแปลกตาและยังมีผืนป่าที่จัดได้ว่าอุดมสมบูรณ์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ที่นี่จะถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน 5 เส้นทางกิจกรรมปั่นจักรยานเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวภาคอีสาน
วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน 2558 เวลา 3:06 น.

ชื่อ“บึงกาฬ” แม้จะได้ยินได้ฟังบ่อยขึ้น แต่ ณ วันนี้ที่นี่ก็ยังคงเป็นจังหวัดน้องใหม่ล่าสุดในลำดับที่ 77 ของประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว โดยมีเพียงแม่น้ำโขงเป็นแนวกั้นแล้ว บึงกาฬยังเป็นจังหวัดที่อยู่เหนือสุดของภาคอีสานอีกด้วย

สภาพภูมิประเทศที่สวยงามแปลกตาและยังมีผืนป่าที่จัดได้ว่าอุดมสมบูรณ์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ที่นี่จะถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน 5 เส้นทางกิจกรรมปั่นจักรยานเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวภาคอีสาน ซึ่งจัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับจังหวัดบึงกาฬ โดยมีไฮไลต์ที่เส้นทางการปั่นที่มีให้เลือกถึง 2 เส้นทาง โดยมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อในจังหวัดบึงกาฬเป็นจุดมุ่งหมายของการแข่งขัน

เส้นทางแรกถูกจัดอยู่ในประเภทวิบากสำหรับจักรยานเสือภูเขา กับระยะทางราว 50 กิโลเมตร โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ “ภูสิงห์” ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงดิบกะลา ป่าภูสิงห์ และป่าดงสีชมพู ภูเขาหินทรายทอดตัวไปตามทิศเหนือ-ใต้ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอศรีวิไลกับอำเภอเมืองบึงกาฬ

ภูสิงห์เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาของเปลือกโลกในลักษณะต่าง ๆ เกิดการเรียงตัวของก้อนหิน หน้าผา ถ้ำ กลุ่มหินรูปทรงต่าง ๆ ลานหินกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ก่อให้เกิดความงามตามธรรมชาติลักษณะต่างกัน ที่สำคัญที่นี่สามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกในภูเดียว ทั้งที่จุดชมวิวลานธรรมที่จะได้ชมพระอาทิตย์ขึ้นพร้อมกับมองเห็นแม่น้ำโขง และเมืองปากกระดิ่ง สปป.ลาว และป่าภูวัว หรือ “หินสามวาฬ” หินขนาดใหญ่ติดหน้าผาสูง 3 ก้อน หากมองจากที่ไกลหรือจากภาพถ่ายทางอากาศจะมีรูปร่างคล้ายปลาวาฬ พ่อ แม่ ลูก กำลังว่ายน้ำกันอย่างสนุกสนานจนเป็นที่มาของชื่อ

แต่สำหรับจุดชมพระอาทิตย์ตกที่ดีที่สุด ต้องไปที่ “ส้างร้อยบ่อ” หลุมขนาดใหญ่-เล็กจำนวนมากที่เป็นที่มาของชื่อมีความหมายตามภาษาไทยว่า “บ่อน้ำร้อยบ่อ” เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา การเซาะกร่อนของลม ฝน อยู่ติดหน้าผาด้านตะวันตก ในฤดูฝนมีน้ำขัง จากจุดนี้ยังมองเห็นศาลากลางจังหวัดบึงกาฬได้ด้วย

ส่วนที่ “หินหัวช้าง” จะมองเห็นโขดหินเรียงรายคล้ายกับแกรนด์แคนยอนหากขึ้นมายืนด้านบน ขณะที่ “หินช้าง” หินขนาดใหญ่คล้ายช้างครึ่งตัว ก็เป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวที่น่าสนใจไม่แพ้ “หินรถไฟ” ก้อนหินขนาดใหญ่มองไกล ๆ คล้ายหัวขบวนรถไฟ ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญและโดดเด่นของภูสิงห์ เมื่อขึ้นไปยืนอยู่บนหินรถไฟจะเห็นวิวทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของภูสิงห์ ส่วน “กำแพงหินภูสิงห์” กำแพงหินสูงซึ่งเกิดจากการเซาะกร่อนของลม ฝน และเรียงซ้อนกันของชั้นหินตามธรรมชาติ เกิดเป็นลวดลายแปลกตาเป็นอีกจุดที่เหมาะแก่การเก็บภาพ

ลานกว้างอยู่ด้านทิศเหนือมีหินทรายแดงขนาดใหญ่มองดูคล้ายสิงโตหมอบอยู่ข้างลาน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ภูสิงห์ มีพระพุทธรูป “หลวงพ่อพระสิงห์” ประดิษฐานอยู่ ที่นี่จึงถูกเรียกว่า ลานธรรมภูสิงห์ โดยพระสงฆ์และฆราวาสใช้เป็นที่สวดมนต์ภาวนาและจัดกิจกรรมทางศาสนาประจำทุกปี

นอกจากจะเป็นจุดชมวิวแล้วครั้งหนึ่งภูสิงห์แห่งนี้ ยังเคยเป็นส่วนหนึ่งของการสู้รบระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ระหว่างปี พ.ศ.2516-2523 โดยมี “ถ้ำใหญ่” ที่จุคนได้ถึง 300-500 คน เป็นสถานที่พักหลบภัยและปฐมพยาบาล ขณะที่ด้านนอกยังคงมีบังเกอร์และหลุมหลบภัยให้เห็นเป็นหลักฐานของการสู้รบที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้ในฐานะ “สมรภูมิภูสิงห์”

แต่สำหรับ “ภูทอก” จุดหมายของเส้นทางเรียบจักรยานทางไกล ระยะทางราว 100 กิโลเมตรนั้น ชื่อเรียกมาจากภาษาอีสานแปลว่า “ภูเขาที่โดดเดี่ยว” อยู่ในเขตบ้านคำแคน ตำบลนาสะแบง ภูเขาหินทรายมองเห็นได้แต่ไกลประกอบด้วยภูทอกใหญ่และภูทอกน้อย แต่ก่อนบริเวณนี้เคยเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ได้เข้ามาจัดตั้งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม เนื่องจากเป็นสถานที่เงียบสงบมาก

ภูทอกน้อยเป็นที่ตั้งของวัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการเดินเท้าขึ้นสู่ยอดภูทอก โดยต้องเดินไปตามสะพานไม้เวียนรอบเขาสูงชันจนถึงยอด สะพานไม้สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของพระ เณร และชาวบ้าน เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2512 ใช้เวลานานถึง 5 ปี บันไดที่ขึ้นสู่ยอดภูทอกนี้เปรียบเสมือนเส้นทางธรรมที่น้อมนำสัตบุรุษให้พ้นโลกแห่งโลกียะสู่โลกแห่งโลกุตระหรือโลกแห่งการหลุดพ้นด้วยความเพียรพยายามและมุ่งมั่น ไม่เพียงเท่านั้นภูทอกยังเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและปฏิบัติศาสนกิจของชุมชน

บันไดขึ้นภูทอกแบ่งออกเป็น 7 ชั้น โดยชั้นที่ 1-2 เป็นบันไดสู่ชั้นที่ 3 ซึ่งเริ่มเป็นสะพานเวียนรอบเขา สภาพเป็นป่าเขาครึ้ม มีโขดหิน ลานหิน สุดทางชั้นที่ 3 มีทางแยกสองทาง ทางซ้ายมือเป็นทางลัดไปสู่ชั้นที่ 5 ได้เลย แต่เป็นทางชันมาก ต้องผ่านอุโมงค์มืด ทางขวามือเป็นทางขึ้นสู่ชั้นที่ 4

ชั้นที่ 4 เป็นสะพานลอยเวียนรอบเขา มองไปเบื้องล่างจะเห็นเนินเขาเตี้ย ๆ สลับกัน เรียกว่า “ดงชมพู” ทิศตะวันออกจดกับภูลังกา เขตอำเภอเซกา ซึ่งมีสภาพเป็นป่า บนชั้นที่ 4 นี้ จะเป็นที่พักของแม่ชี รอบชั้นมีระยะทางประมาณ 400 เมตร มีที่พักระหว่างทางเป็นระยะ ๆ

ชั้นที่ 5 มีศาลาและกุฏิที่อาศัยของพระ ตามช่องทางเดินจะมีถ้ำอยู่หลายถ้ำ ตลอดเส้นทางสู่ชั้นที่ 6 มีที่พักเป็นลานกว้างหลายแห่ง มีหน้าผาชื่อต่าง ๆ กัน เช่น ผาเทพนิมิตร ผาหัวช้าง ผาเทพสถิต เป็นต้น ถ้ามาทางด้านเหนือจะเห็นสะพานหินธรรมชาติทอดสู่พระวิหาร อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย มองออกไปจะเห็นแนวของภูทอกใหญ่อย่างชัดเจน ผู้คนส่วนใหญ่มักหยุดการเดินทางเพียงแค่นี้ เพราะจากชั้นที่ 6 สู่ชั้นที่ 7 เป็นสะพานไม้ยาว 400 เมตร เวียนรอบเขาซึ่งเป็นหน้าผาสูงชัน สุดทางที่ชั้น 7 เป็นป่าไม้ร่มครึ้ม

แข่งเสร็จแล้วอย่าลืมแวะสักการะ “พระพุทธคุวานันท์ศาสดา” ที่วัดอาฮงศิลาวาส (แก่งอาฮง) องค์พระหล่อด้วยทองเหลืองลักษณะคล้ายกับพระพุทธชินราช ก่อนจะไปชมมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติบนลำน้ำโขง ชาวบ้านเชื่อกันว่าลำน้ำโขงบริเวณหน้าวัดเป็นจุดที่ลึกที่สุดในแม่น้ำโขง หรือเรียกกันว่า “สะดือแม่น้ำโขง” เคยมีการวัดโดยใช้เชือกผูกกับก้อนหินหย่อนลงไปได้ถึง 98 วา ในฤดูน้ำหลากกระแสน้ำจะไหลวนเป็นรูปกรวยขนาดใหญ่ เมื่อรูปกรวยแตกจะมีเสียงคล้ายกระแสน้ำไหลเซาะโขดหินแล้วจะค่อย ๆ หายไป เมื่อกระแสน้ำเชี่ยวมาอีกก็จะก่อตัวขึ้นใหม่เกิดสลับกันตลอดทั้งวัน ส่วนหน้าแล้งในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม จะมองเห็นแก่งชัดเจน

ตามตำนานเล่าสืบต่อกันว่าบริเวณสะดือแม่น้ำโขง จะมีถ้ำใต้โขดหินใหญ่ฝั่งประเทศลาวเป็นที่อยู่ของปลาบึกซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดอาฮงศิลาวาส และเป็นที่ชุมนุมของเหล่าพญานาคในวันเทศกาลออกพรรษา เพื่อทำบุญบั้งไฟเป็นพุทธบูชาร่วมกับมนุษย์ จึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และทำให้บริเวณนี้มีบั้งไฟพญานาคขึ้นเป็นจำนวนมาก

แล้ววกกลับมาที่ “วัดโพธิ์ธาราม” (วัดหลวงพ่อพระใหญ่) เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระใหญ่ พระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2 เมตร ประดิษฐานบนแท่น 4 เหลี่ยม ซึ่งได้บูรณะขึ้นใหม่ในปี 2537 ชาวบึงกาฬจัดให้มีการสมโภชหลวงพ่อพระใหญ่ปีละ 2 ครั้ง คือ วันเพ็ญ เดือน 3 และช่วงเทศกาลสงกรานต์

ตบท้ายด้วย “ศาลเจ้าแม่สองนาง” หน้าโรงพยาบาลบึงกาฬ ในตลาดอำเภอเมืองบึงกาฬ โดยปกติประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงจะเสียชีวิตในลำน้ำโขงปีละหลายคน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการกระทำของเทพเจ้าทางน้ำ ชาวบ้านจึงจัดให้มีพิธีบวงสรวงเจ้าแม่สองนางเพื่อเป็นสิริมงคลและให้คุ้มครองผู้ที่ประกอบอาชีพทางน้ำให้พ้นจากภัยอันตราย

แม้จะเป็นจังหวัดน้องใหม่ล่าสุด แต่บึงกาฬเต็มไปด้วยความหลากหลาย ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ที่รอให้มาพิสูจน์ว่าแผ่นดินอีสานเป็น “แหล่งเรียนรู้ อู่อารยธรรม” อย่างที่ว่าจริงหรือไม่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ททท.สำนักงานอุดรธานี โทร. 0-4232-5406-7.

ขอขอบคุณ ข้อมูลภาพข่าวจาก เดลินิวส์  http://www.dailynews.co.th/article/348990

 ‘>

ข่าวสังคม-การเมือง ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด