บึงกาฬยางราคาตกเกษตรกรหันมาเพาะเห็ดฟางขายสร้างรายได้วันละ 5 พัน
เกษตรกรสวนยางที่บ้านนาแสงสาคร ตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ หันมาเพาะเห็ดฟางขายหลังจากราคายางพาราตกต่ำอย่างต่อเนื่องสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัววันละ 5,000 บาท
นายอ้วน ปัดสำราญ เกษตรกรที่หันมาประกอบอาชีพเสริมหลังจากราคายางพาราตกต่ำอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 82 หมู่ 7 บ้านนาแสงสาคร ตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ เล่าว่า เดิมตนเองประกอบอาชีพทำสวนยางพาราแต่เนื่องจากราคายางพาราตกต่ำอย่างต่อเนื่องตนเองจึงได้ไปกู้เงินจาก ธกส.ตามโครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม จำนวน 100,000 บาทเพื่อมาทำโรงเรือนและซื้ออุปกรณ์ทำเห็ดฟาง โดยเงินที่ยืมมาไม่เพียงพอเพราะต้องการทำโรงเรือนที่มีขนาดใหญ่เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการจำหน่าย เห็ดฟางที่เพาะในแต่ละรอบสามารถเก็บผลผลิตได้ใน 14 วันถ้าทำโรงเรือนหลายห้องก็จะสามารถหมุนเวียนให้สามารถเก็บจำหน่ายได้ทุกวัน การเพาะเห็ดฟางตนเองจะใช้ทลายปาล์มน้ำมันที่เหลือจากโรงงานสกัดน้ำมันใกล้กับชุมชน ซื้อมาในราคารถละ 4,000 บาท มีอาหารเสริมจำพวก รำ มูลวัว กากน้ำตาล และที่สำคัญเชื้อเห็ดฟางซื้อมาในราคา 3,000-4,000 บาทรวมลงทุนต่อครั้งประมาณ 8,000 บาท ขั้นตอนการเพาะเห็ด นำทะลายเปล่าปาล์มน้ำมันมาทำการแช่น้ำไว้ประมาณ 3 วัน คลุมด้วยผ้าพลาสติกหลักจากหมักครบกำหนดแล้วจึงนำทลายเปล่าปาล์มน้ำมันมาเรียงเป็นแถวๆ บนชั้นเพาะเห็ดทำการอบฆ่าเชื้อ โดยก่อไฟแล้วปล่อยควันไฟให้เข้าไปในโรงเพาะเห็ด ประมาณ 6- 7 ชั่วโมง ให้อุณหภูมิอยู่ที่ 70 องศา ในระยะเวลา 2 – 3 ชั่วโมง โดยจะต้องทำการอบทั้งวัน นำเชื้อเห็ดฟางผสมกับอาหารเสริม หว่านบนแถวที่เตรียมไว้แล้วปิดโรงเพาะเห็ดให้สนิท หลังจากนั้นประมาณ 3 วัน แล้ววันที่ 4 ค่อยเปิดดู เมื่อเห็ดเดินใยก็เอาน้ำฉีด ฉีดทุกชั้น และให้อุณหภูมิอยู่ที่ 35 องศา(ห้ามให้เกินถ้าเกินเห็ดจะฝ่อ) จากนั้นก็ต้องทำการเปิดประตูโรงเพาะเพื่อระบายอากาศ หลังจากนั้นเปิดดูทุกวันได้ อีกประมาณ 7 – 10 วัน ดอกเห็ดก็จะออก และสามารถเก็บผลผลิตขายได้ ซึ่งในแต่ละวันสามารถเก็บเห็ดได้ประมาณ 70 – 80 กิโลกรัม จำหน่ายในราคาส่งกิโลกรัมละ 70 บาท ได้เงินวันละประมาณ 5,000 บาท ถ้าเป็นไปตามเป้าหมายคาดว่าอีก 1 ปีก็จะสามารถใช้หนี้ที่ยืมมาจาก ธกส. จำนวน 1 แสนบาทหมดและจะมีเงินมาจุนเจือครอบครัวและเก็บไว้ใช้บ้างในเวลาจำเป็น
สำหรับโครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริมโดยสนับสนุนสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. วงเงิน 10,000 ล้านบาท ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริมด้านการเกษตร วงเงินสินเชื่อให้เป็นไปตามแผนการผลิตของเกษตรกร ครัวเรือนละไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป้าหมายเกษตรกร 100,000 ครัวเรือน ระยะเวลาการชำระเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี (ปี 2558-2562) ทั้งนี้ หากเกษตรกรไม่สามารถชำระเงินกู้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ ธ.ก.ส. สามารถปรับเงื่อนไขการกู้เงิน และการเรียกเก็บดอกเบี้ยได้ตามข้อบังคับและวิธีปฏิบัติของธนาคาร
ข่าว สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดบึงกาฬ
‘>