LINE : ติดต่อผู้ดูแล

ยินต้อนรับเว็บไซต์ข่าวสารเพจข่าวท้องถิ่นบึงกาฬ

วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน 2024
ข่าวเด่นบึงกาฬ

ปั่นไปเบิ่ง “สะดือแม่น้ำโขง”ที่ ‘บึงกาฬ’

EyWwB5WU57MYnKOuX7GzrwnAVUOkUfCorzBrqehYM0OS7tywfGKYFr

…ฤดูท่องเที่ยวหนาวนี้ ใครยังไม่ตัดสินใจเลือกไปไหน ลองพิจารณาจังหวัดน้องใหม่ล่าสุดของประเทศไทย “บึงกาฬ–77”…จังหวัดนี้มีดีอะไร ทำไมต้องลองไปเยือน…

ต้องขอบคุณ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” (ททท.) ผอ.กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ พิชยา สายแสงจันทร์ และทีมงานคุณภาพ ที่พาสื่อกลุ่มเล็กๆไปสัมผัสความหลากหลายและความคล้ายคลึงกันของดินแดนอีสานเหนือ รวบรัด 3 จังหวัดรวด…อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ ภายในช่วงเวลา 2 คืน 3 วัน แต่เต็มอิ่มประทับใจ ใช้เวลาอย่างคุ้มค่า…

 
ศาลเจ้าปู่-ย่า..อุดรธานี

ขึ้นเครื่องบินจากกรุงเทพฯสู่อุดรธานี ทันทีที่เครื่องบินลงแตะพื้นรันเวย์ ตามวิถีขนบประเพณีไทย ถึงที่ไหนต้องไปคารวะ “เจ้าที่” พี่ป็อป…ผอ.พิชยา จึงพาไปไหว้ศาลเจ้าปู่-ย่า ซึ่งตั้งอยู่หลังสถานีรถไฟใกล้ตลาดหนองบัว เป็นศาลเจ้าจีนขนาดใหญ่ ชาวอุดรธานีเชื่อว่าการกราบไหว้ศาลเจ้าปู่-ย่า ทำให้ค้าขายประกอบธุรกิจรุ่งเรือง

ศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน

ใกล้ๆกับศาลเจ้าปู่-ย่า มี ศูนย์วัฒนธรรมไทย–จีน ก่อตั้งเป็น ศูนย์รวมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม วิถีบรรพชน และหลักปรัชญาของชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดอุดรธานี ให้ผู้ไปเยือนได้เรียนรู้ความเป็นมาเป็นไปของชุมชนที่ดูเป็นจีนๆและน่าสนใจ เห็นจะเป็น ร้านขายชาจีนผิงอัน ร้านชาเล็กๆข้างๆศูนย์วัฒนธรรม ที่เปิดให้ผู้คนไปนั่งจิบชาพูดคุยและนั่งพักผ่อนสบายๆ รายได้ส่วนหนึ่งของร้านนี้ นำไปทำบุญกับมูลนิธิศาลเจ้าปู่-ย่า ใช้ช่วยเหลือผู้คนยากไร้ ด้อยโอกาสเป็นกุศลต่อไปอีก

ร้านชาผิงอัน

หลังจิบชาชิลๆแล้ว เราก็ไปต่อกันที่ บ้านโฮจิมินห์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่จัดแสดงประวัติและผลงานของประธานาธิบดีโฮจิมินห์แห่งเวียดนาม รวมถึงประวัติศาสตร์ของชาวเวียดนามในจังหวัดอุดรธานี ที่ทำให้เราได้เปิดหูเปิดตาขึ้นอีกมากทีเดียว

ที่หมายสุดท้ายของวันแรกจบลงที่ทางหลวงหมายเลข 2 อุดรธานี-หนองคาย บริเวณบ้านนาข่า ซึ่ง ททท.เปิดโอกาสให้พวกเราได้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ผ้าหมี่ขิด ผ้าทอซึ่งเป็นภูมิปัญญาวัฒนธรรมท้องถิ่นคู่บ้านคู่เมืองของอุดรธานี มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสานชัดเจน

1 ชั่วโมงจากอุดรธานี มุ่งสู่จังหวัดหนองคายเพื่อรับประทานอาหารเย็น เมนูขึ้นชื่อของที่นี่จะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากแหนมเนือง อาหารสร้างชาติของคนเวียดนาม ก่อนเข้าพักที่โรงแรมริมโขง เกสต์เฮาส์ นอนหลับสบายเก็บแรงไว้ลุยต่อใน
วันพรุ่งนี้

นักปั่นแห่งลุ่มน้ำโขง

ตื่นเช้า อากาศริมแม่น้ำโขงเย็นสบาย บรรยากาศดี มองเห็นวิถีชีวิตประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาวอยู่ลิบๆ วันนี้เรามีกิจกรรมพิเศษ “มหกรรมแข่งขันจักรยานทางไกลประเทศไทย ตอนนักปั่นแห่งลุ่มน้ำโขง”––Ride to Khong’s Legendary เป้าหมายหลักคือ เพื่อประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวลุ่มน้ำโขงภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้รู้จักแพร่หลาย สร้างมูลค่าเพิ่มของการท่องเที่ยวด้วยจักรยานลัดเลาะลำน้ำโขงเผชิญความท้าทายของเส้นทางทั้งเรียบ โค้งและชัน เส้นทางแข่งขันใน 4 จังหวัด คือ หนองคาย บึงกาฬ นครพนมและมุกดาหาร ระหว่างทางมีจุดให้แวะชมธรรมชาติสวยงามหลากหลายตลอดเส้นทางของลำน้ำ

ดินแดนพญานาค “คำชะโนด”

พิธีปล่อยตัวขบวนนักปั่น จัดขึ้นบริเวณลานน้ำพุพญานาคกลางตัวเมืองหนองคาย ประธานในวันนี้คือ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ที่สวมชุดนักปั่นจักรยานสวยทะมัดทะแมง ประเดิมขี่จักรยานเปิดเส้นทางช่วงแรกอย่างคึกคัก

ป้ายบอกทางริมน้ำโขงในตัวเมืองบึงกาฬ
เส้นทางการแข่งขัน “เปิดตำนานนักปั่นแห่งลุ่มน้ำโขง” ช่วงแรก 115.3 กม. สิ้นสุดที่ วัดอาฮงศิลาวาส จ.บึงกาฬ

“วัดอาฮงศิลาวาส” อยู่ห่างตัวจังหวัดบึงกาฬราว 21 กม.ตรงข้ามกับเมืองปากซันของลาว ที่มาของบทเพลงอมตะ “กุหลาบปากซัน” ความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวสองฝั่งโขง บริเวณนี้มีความสำคัญเพราะเป็นจุดที่เรียกว่า “แก่งอาฮง” หรือ “สะดือแม่น้ำโขง” เป็นจุดที่น้ำโขงลึกมากที่สุดถึง 200 เมตร ฤดูน้ำหลากกระแสน้ำจะไหลวนเป็นรูปกรวยขนาดใหญ่ มีตำนานความเชื่อเล่าสืบต่อกันมาว่าบริเวณนี้จริงๆแล้วคือ วังบาดาล และยังเป็นแหล่งปลาบึกชุกชุมมากที่สุดแห่งหนึ่งด้วย

แก่งอาฮง หรือ “สะดือแม่น้ำโขง”

แม้จะเป็นจังหวัดน้องใหม่ แต่สถานที่ท่องเที่ยวในบึงกาฬ ก็ไม่น้อยไปกว่าที่อื่น เราเริ่มต้นเที่ยวบึงกาฬกันที่อุทยาน “ภูสิงห์” เขาหินทราย ซึ่งอยู่ห่างตัวจังหวัดออกไปไม่ไกล ตั้งอยู่บนพื้นที่ราว 12,000 ไร่ เขาหินทรายบนภูสิงห์เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาของเปลือกโลกในลักษณะต่างๆ ทำให้เกิดหน้าผา ถ้ำและการเรียงตัวของชะง่อนหิน ทำให้เกิดกลุ่มหินรูปทรงต่างๆและลานหินกระจัดกระจายทั่วบริเวณ สามารถขึ้นไปชมพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกในพื้นเดียวกันได้ ไฮไลต์ของภูสิงห์เขาหินทรายแดง ที่ไม่ควรพลาดคือ จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าที่เรียกว่า หินสามวาฬ ซึ่งเป็นหิน 3 ก้อน แต่ละก้อนรูปร่างคล้ายวาฬ พ่อ แม่ ลูก กำลังว่ายน้ำกันอย่างสนุกสนาน

ทิวทัศน์สวยงามที่….ภูทอก
ภูสิงห์อยู่ภายใต้การดูแลของกรมป่าไม้ การท่องเที่ยวเรียนรู้ธรรมชาติที่นั่น ผู้ไปเยือนต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าชมและพื้นที่ยังรองรับนักท่องเที่ยวได้คราวละไม่มากแค่หลักร้อยหรือสองร้อยคน อีกทั้งภูหินบางแห่งสูงชันและอันตราย นักท่องเที่ยวต้องระมัดระวังเป็นพิเศษแลกกับความตื่นเต้นประทับใจ… เที่ยวภูสิงห์หมดเวลาครึ่งวันยังไม่ถ้วนทั่วดี ต้องรีบเดินทางกลับเข้าหาที่พักในเมืองบึงกาฬริมน้ำโขง ตื่นเช้าเดินทางต่อไปเที่ยวชม “ภูทอก” ตั้งอยู่อำเภอศรีวิไล ความหมายในภาษาอีสาน หมายถึง “ภูเขาโดดเดี่ยว” เป็นภูเขาหินทราย มีวัดเจติยาคีรีวิหาร ตั้งอยู่บนเขาและมีสะพานไม้สร้างวนเวียนขึ้นไปสู่ยอดเขา 7 ชั้น เดินขึ้นไปยังกุฏิและถ้ำที่อยู่ตามหลืบผา และมองเห็นความสวยงามของภูมิประเทศเบื้องล่างได้ไกลสุดลูกหูลูกตา ถ้าในวันที่อากาศแจ่มใสอาจมองได้ไกลถึงเทือกเขาในเขตจังหวัดนครพนม

ภูทอก
ขากลับจากภูทอก พวกเราแวะเยี่ยมชมดินแดนพญานาค คำชะโนด ที่อำเภอบ้านดุง อุดรธานี ก่อนขึ้นเครื่องบินกลับเข้ากรุงเทพฯ แบบอิ่มเอมใจ……!!!!

ที่มา https://www.thairath.co.th/content/554093‘>

ข่าวเด่นบึงกาฬ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด