สัมภาษณ์
นับแต่ 23 มีนาคม 2554 ถึงวันนี้ “บึงกาฬ”ได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดเกือบจะครบ 5 ปีแล้ว ระยะเวลาเกือบ 5 ปี “บึงกาฬ” มีผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่บริหารงานปกครองถึง 6 คน ล่าสุด “พงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์” เป็นผู้ว่าฯคนปัจจุบัน ถือโอกาสบอกเล่าเรื่องราวของบึงกาฬที่ผ่านมาและภาพในอนาคตกับ “ประชาชาติธุรกิจ”
– ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดบึงกาฬเป็นอย่างไร
ยุทธศาสตร์ของจังหวัดที่วางไว้มี 4 เรื่อง คือ การพัฒนาการเกษตร การเพิ่มช่องทางในการแข่งขัน การพัฒนาความมั่นคง และการค้าชายแดน แต่จริง ๆ แล้วบึงกาฬไม่ใช่อ-ย่างนั้น ความมีเสน่ห์ของบึงกาฬอยู่ที่ “ยางพารา” ซึ่งขณะนี้มี 1 ล้านไร่ จาก 2.6 ล้านไร่ในอีสาน ถือเป็นอันดับ 1 ของภาคอีสาน และเป็นอันดับ 6 ของประเทศไทย เรากำหนดยุทธศาสตร์จังหวัดให้เป็น “ศูนย์กลางยางพาราภาคอีสาน” เป็นสะพานการค้าและการท่องเที่ยว เพราะเรามี 4 อำเภอติดภูเขา และ 4 อำเภอติดแม่น้ำโขง ระยะทางตามแนวริมโขงยาว 120 กิโลเมตร และยังมี 2 พื้นที่ชุ่มน้ำ คือ บึงโขงหลง กับหนองกุดทิง เฉพาะ 2 พื้นที่นี้ก็สุดยอดของจังหวัดแล้ว สิ่งนี้ทำให้ใต้ดินของบึงกาฬชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำ เป็นจังหวัดเดียวใน 20 จังหวัดอีสานที่ไม่มีปัญหาภัยแล้ง
– มีอย่างอื่นไหมนอกจากยางพารา
เรามีพื้นที่ปลูกข้าว 4 แสนกว่าไร่ ข้าวไรซ์เบอรี่ก็ปลูก แต่สิ่งที่จะพัฒนาบึงกาฬให้ยั่งยืนคือ “การท่องเที่ยว” เพราะใน 8 อำเภอของบึงกาฬมีสถานที่ท่องเที่ยวอยู่ทุกอำเภอ สามารถเที่ยวได้ทุกหน้า และยังมีงานบุญประเพณี งานมหาสงกรานต์ เป็นงานประจำจังหวัด ทำให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวบึงกาฬมากขึ้น ปี 2558 จำนวน 1,270,000 คน รายได้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะขยับมา 58,000 ล้านบาท
แต่ยางพารายังเป็นหลักอยู่ เพราะเป็นวิถีชีวิตของคนบึงกาฬ รองลงมาก็คือข้าวและผลไม้ เวลานี้คนบึงกาฬวิธีคิดของเขาคือไม่ตัดต้นยางเหมือนที่ท่านนายกรัฐมนตรีพูด แต่ปรับวิกฤตเป็นโอกาส คือปรับพื้นที่ 1-3% ของทุกคนที่มีสวนยาง 1-30 ไร่ จะได้พื้นที่ประมาณ 6-7 ไร่ต่อคน เอามาทำเป็นสวนผลไม้ ซึ่งมาถึงวันนี้ 218 ครอบครัวในบึงกาฬที่ทำเกิดมรรคผลแล้ว ผลไม้ที่ปลูกในบึงกาฬมีตั้งแต่เงาะ มังคุด ลองกอง ทุเรียนก็ปลูกได้ ลูกหนึ่งราคา 3,000 บาท รสชาติเป็นรองนนทบุรีนิดเดียว
– จีดีพีหรือรายได้ของคนบึงกาฬดีขึ้น
คิดว่าภายในปีนี้จีดีพีเรารายได้ต่อหัวต่อปีจะขยับจาก 4.2 หมื่นบาทเป็นถึง 7 หมื่นบาทแน่นอน ตอนนี้เราแซงอำนาจเจริญและหนองบัวลำภูแล้ว วันนี้คนบึงกาฬมีจีดีพี 3 ขา ขาแรกคือยางพารา ขาที่สองคือการท่องเที่ยว ขาที่สามคือเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ปลูกผลไม้แทนยางพารา
– โรงงานแปรรูปยางยังต้องมีไหม
ครับ อยู่ในภาคอุตสาหกรรม คือโรงงานแปรรูปยางพารา แปรรูปยางเครป แต่ยางเครปมีน้อยมาก คือบริษัท รับเบอร์ วัลเล่ย์กรุ๊ป จากจีน จะมาลงทุนกับเรา 2,000 ล้านบาท สร้างโรงงานแปรรูปน้ำยางดิบ ขณะนี้เรากำลังขอกู้เงิน ธ.ก.ส.เอามาสร้างโรงงานผลิตหมอนยางพารา คิดว่าตีตลาดแน่ ตอนนี้ยังไม่ได้ตั้งโรงงานเลยแต่มีออร์เดอร์ 6 หมื่นใบแล้ว แค่นี้ยางก้อนถ้วยบึงกาฬราคาก็ขึ้นโดยอัตโนมัติ
พงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์
– 4 ปีที่ผ่านมาผังเมืองบึงกาฬเป็นอย่างไร
เรื่องแรกที่ผมมารับตำแหน่งคือจัดการเรื่องผังเมือง ในอนาคตบึงกาฬจะมีนิคมอุตสาหกรรมเพียง 1 แห่ง และจะเป็นนิคมที่เกี่ยวข้องกับยางพาราเท่านั้น เราวางสโคปพื้นที่ไว้ว่าบริเวณที่ติดกับเขตเศรษฐกิจพิเศษเรียก “สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ” แบ่งเป็นโซน ได้แก่ 1.โซนนิคมอุตสาหกรรม 2.โซนเกษตรกรรมคือพื้นที่ของยางพารา 3.โซนที่อยู่อาศัย ซึ่งจะเป็นทั้งแลนด์มาร์กกับย่านธุรกิจ โซนธุรกิจเริ่มตั้งแต่สี่แยกไฟแดงตรงกองบังคับการตำรวจภูธร ผ่านวัดภูกระแตไปถึงศูนย์ราชการ
ส่วนถนนสายในจะมี 2 เส้นติดริมโขง เราขยายการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งออกไป ปีที่แล้วสร้างได้ 26 กม. ปีนี้ 33 กม. ปีหน้า 40 กม. 3 ปีได้ 99 กม. เป็นจังหวัดเดียวที่มีเขื่อนป้องกันตลิ่งยาวมาก เราจัดพื้นที่ริมโขงใหม่เปลี่ยนชื่อถนนเป็น “ถนนข้าวเม่าริมโขง” ปรับภูมิทัศน์ใหม่ให้สวยงามและเน้นการรักษาความสะอาด สร้างวินัยให้คนบึงกาฬ จัดโครงการรักษาความสะอาดร่วมกับท้องถิ่น มีคนเข้าร่วม 50,000 ครอบครัวเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้รณรงค์ต่ออีก 50,000 ครอบครัว ครบ 100% พอดี
โครงการนี้ทำให้ปีที่แล้วบึงกาฬเป็นจังหวัดเดียวที่ได้รางวัล “จังหวัดที่มีการกำจัดขยะต้นทางอันดับ 1” จากกระทรวงทรัพยากรฯ ซึ่งเรากำจัดขยะได้ 2,780 ตัน โดยนำขยะมาแยกแล้วแปลงเป็นมูลค่าได้เงินถึง 15 ล้านบาท เงินจำนวนนี้นำกลับไปช่วยเหลือสมาชิกในโครงการ
หากจะดูว่าบึงกาฬสวยอย่างไร ต้องข้ามไปที่บอลิคำไซแล้วมองมาจะเห็นเลยว่าเป็นเมืองสวรรค์ อีกสามเดือนจากนี้จะติดตั้งเสาไฟ 360 องศาที่ริมโขง ต้นละ 4.7 แสนบาท 3 ต้น ฉายแสงไปยังตึกอาคารบ้านริมโขง ผมจะเรียกประชุมชาวบ้าน 280 หลังคาเรือนริมโขงทั้งหมด ถามว่าแต่ละบ้านชอบสีอะไร จะทาสีให้ฟรี ลองนึกภาพว่าสวยงามแค่ไหน มันโปสการ์ดดี ๆ นี่เอง จินตนาการผมขนาดนี้
– สะพานข้ามโขงแห่งที่ 5 จะเกิดไหม
สร้างแน่นอนครับ แบบเสร็จแล้ว พื้นที่ก็กำหนดแล้วที่บ้านห้วยเซือมเหนือ ใช้งบ 3,400 ล้านบาท ปีนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ให้มา 200 ล้าน เพื่อสำรวจแนวเวนคืน สะพานแห่งที่ 5 เป็นโครงการที่บึงกาฬกับเมืองปากซันของ สปป.ลาว ออกเงินกันคนละครึ่ง 1,700 ล้านบาท สะพานจะเคิร์ฟ 16.2 กม. มาที่ ตชด.244 ตรงทางไป อ.ศรีวิไล ซึ่งอยู่ในบริเวณเขตเศรษฐกิจเฟส 2 คือแยกนิคมอุตสาหกรรม แต่ให้แยกออกจากย่านสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ โมเดลมีอยู่แล้ว ขั้นตอนก็อยู่ที่รัฐบาล แต่ผมว่าไม่ช้าครับ หากสะพานเกิดมูลค่าการค้าชายแดนมหาศาล ทุกวันนี้เราส่งออกกระทิงแดง เหล็ก อุปกรณ์ก่อสร้าง ซีเมนต์ ส่วนเรานำเข้าไม้ และขี้เลื่อย เราได้เปรียบดุลการค้าบอลิคำไซเดือนละ 128 ล้านบาท แต่เมื่อสะพานเกิด มันจะข้ามไปเป็นหลักหมื่นเลย
– การลงทุนของภาคเอกชนคนนอกพื้นที่
มาหมดแล้วครับทั้งแม็คโคร โลตัส โกลบอลเฮ้าส์ ไทวัสดุ ทางกลุ่มสหพัฒน์ก็ติดต่อให้ผู้ว่าฯดูพื้นที่ 300 ไร่ เพื่อจะมาสร้างโรงงานส่งออกไปทางสะพานแห่งที่ 5 ข้ามไปเมืองฮาติงห์ เวียดนาม นอกจากนั้นมีนักลงทุนอสังหาฯจากชลบุรีสนใจทำหมู่บ้านดี ๆ ริมโขง เขามาดูที่ดินแต่ค่อนข้างแพงเฉลี่ย 2 ล้านบาทต่อไร่ ซึ่งราคาประเมิน 4-5 แสนเอง ที่ดินราคาพุ่งสูงตอนนี้เป็นที่อยู่ติดโขงใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ปากคาด บึงโขงหลง และบุ่งคล้า เฉลี่ยไร่ละ 2 ล้านบาท แต่ถ้าพื้นที่ติดภูเขาใน อ.ศรีวิไล พรเจริญ เซกา โซ่พิสัย ไร่ละ 6-8 หมื่นจนถึงสองแสนกว่าบาท บริเวณที่คนมาจับจองมากที่สุดคือริมโขง ยาวถึงวัดท่าไคร้ จับจองคนละ 2 ไร่ 3 ไร่ โซนนี้เป็นพวกคนมีเงินมาซื้อ พวกนักธุรกิจ นักลงทุน ผู้พิพากษา หัวหน้าศาล
– ช่วยสรุปโครงการสร้างถนนของบึงกาฬ
ถนนสายหลักกรมทางหลวงเขาทำอยู่แล้ว สายเชื่อมเมืองก็ทำอยู่แล้ว เป็นถนน 8 เลนจากหนองคายถึงบึงกาฬ และจากบึงกาฬไปนครพนม ถนน 4 เลนตอนนี้ไล่มาตั้งแต่ อ.รัตนวาปี จะเข้า อ.ปากคาดแล้ว และผมยังทำประตูเมืองถึง 3 ทิศ คือ 1.ถนนสายปากคาด-หนองคาย 2.ถนนสายบึงโขงหลง-นครพนม 3.ถนนสายเซกา-สกลนคร สิ่งที่เรากำลังรอดูคืออาจจะมีรถไฟรางเดี่ยวมาบึงกาฬ
แต่ผมมองข้ามชอต ด้วยยุทธศาสตร์และกายภาพของเมืองบึงกาฬ เหมาะและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสนามบิน เรามีพื้นที่ที่เหมาะสม 2 แปลง 4,200 ไร่ ห่างจากริมโขง 8.2 กม. เป็นที่สาธารณะ ไม่มีปัญหาเรื่องเวนคืน เสนอกรมการบินพลเรือนไปแล้ว เขาส่งเจ้าหน้าที่มาดูแล้วบอกว่าสวยมาก ที่มีข่าวว่าจีนกับโปแลนด์จะมาลงทุนสร้างสนามบินให้บึงกาฬ มันเป็นไปไม่ได้หรอก เรื่องนี้รัฐบาลต้องทำเอง
‘>