รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ จ.บึงกาฬ มอบเอกสารสิทธิ และขับเคลื่อนการพัฒนาแรงงานภาคการเกษตรให้มีทักษะที่หลากหลาย เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
วันนี้ 3 ตุลาคม 2563 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ เพื่อพบปะเกษตรกรและร่วมมอบเอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ประชุมหารือเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับเกษตรกร หลังจากนั้นได้เยี่ยมชมกิจกรรมแรงงานสัญจร บริการพี่น้องประชนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดบึงกาฬ 5 หน่วยงาน ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์และให้บริการภารกิจของกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงานภาคการเกษตร ณ ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบังกาฬ จำกัด ตำบลท่าสะอาด อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ
ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาล โดยการนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้กระทรวงแรงงาน ขับเคลื่อนภารกิจเพื่อให้แรงงานไทยมีงานทำ โดยพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ จึงมอบหมายกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งพัฒนาทักษะกำลังแรงงานของประเทศ ภายใต้แนวคิด “สร้าง ยก ให้ รวมไทยสร้างชาติ” โดยจะเดินหน้าสร้างแรงงานภาคการเกษตรให้เป็นแรงงานคุณภาพ ยกระดับฝีมือให้มีทักษะที่หลากหลาย สามารถประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพได้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงให้โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้มากขึ้น ซึ่งกระทรวงแรงงานมีภารกิจในด้านการจัดหางาน การพัฒนาพัฒนาทักษะฝีมือ การคุ้มครองสวัสดิการแก่ผู้ทำงานในระบบและนอกระบบ โดยเฉพาะกลุ่มภาคการเกษตร จะผลักดันให้ได้รับความช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์ประกันสังคม ซึ่งกระทรวงแรงงานมีหน่วยงานทุกจังหวัด เพื่อบริการประชาชนให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึง ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ต้องการรับฟังปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะจากภาคประชาชน ที่ต้องการให้กระทรวงแรงงานดำเนินการภายใต้ภารกิจของกระทรวง เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ โดยเฉพาะการพัฒนายกระดับการผลิตและการแปรรูปยางพาราและเกษตรกรรมด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี ให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อการส่งออกสู่ประเทศเพื่อนบ้านในอนุภาคลุ่มน้ำโขง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก การค้าชายแดน ตลอดจนการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ภารกิจของกระทรวงแรงงานที่ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน จะเกิดผลสำเร็จได้ต้องอาศัยฟันเฟืองกลไกที่สำคัญในพื้นที่ในระดับหมู่บ้าน คือ อาสาสมัครแรงงาน ซึ่งเป็นผู้แทนกระทรวงแรงงานในพื้นที่และเป็นผู้ที่สมัครใจทำงานให้กับกระทรวงแรงงาน เพื่อให้เกิดสันติสุขด้านแรงงานแก่ผู้ใช้แรงงาน นายจ้าง ลูกจ้าง และประชาชนทั่วไป ทำหน้าที่เพื่อเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านแรงงานให้กับประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบกันอย่างทั่วถึงและติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน จึงขอชื่นชมและขอขอบคุณอาสาสมัครแรงงานทุกท่าน
กิจกรรมแรงงานสัญจรบริการพี่น้องประชาชน ประกอบด้วย โครงการแรงงานสัญจรพบประชาชนพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ให้ความรู้แก่อาสาสมัครแรงงานและเครือข่ายด้านแรงงาน จำนวน 70 คน เพื่อนำนโยบายและภารกิจของกระทรวงแรงงานไปสู่การปฏิบัติ และจัดกิจกรรมการให้บริการการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ร้องเรียน กิจกรรมการรับสมัครงาน แนะแนวอาชีพ และประชาสัมพันธ์มาตรการสนับสนุนการจ้างงานผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ โครงการ Co-Payment (จ้างงานเด็กจบใหม่) “รัฐช่วยเสริม เอกชนช่วยสร้าง” โดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดบึงกาฬ การสาธิตการใช้โซลาเซลล์ เพื่อการประกอบอาชีพ Smart Farmer และการมอบป้ายศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้แก่วิทยาลัยเทคโนโลยีเอ็น-เทค อินเตอร์เนชั่นแนล บึงกาฬ โดยสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานบึงกาฬ การให้คำปรึกษาแนะนำ การรับคำร้องทุกข์ร้องเรียน เกี่ยวกับสภาพการจ้างแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ และให้คำปรึกษา แนะนำเกี่ยวกับกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน โดยสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบึงกาฬ และการให้ความรู้ในเรื่องสิทธิประโยชน์กับผู้ประกันตน การรณรงค์ส่งเสริมการสมัครเป็นผู้ประกันตน และบริการรับสมัครผู้ประกันตน มาตรา 40 โดยสำนักงานประกันสังคมจังหวัดบึงกาฬ
“เมื่อวานนี้ได้มีโอกาสเจอคุณนา กลุ่มแรงงานนอกระบบหลังจากที่ถูกบริษัทเลิกจ้าง ซึ่งได้เข้าฝึกอบรมหลักสูตรช่างเย็บผ้ากับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และได้กู้ยืมเงินจากธนาคารออมสินที่ค้ำประกันโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จำนวน 50,000 บาท เพื่อนำไปซื้อจักรเย็บผ้าและวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง จนปัจจุบันสามารถสร้างอาชีพใหม่ รับจ้างตัดชุดได้ราคาชุดละ 3,600 บาท และมีการจ้างตัดชุดเป็นจำนวนมาก จึงเป็นสิ่งที่การันตีได้ว่าแรงงานกลุ่มนี้สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ มีอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน” รมช. แรงงาน กล่าวในท้ายสุด
‘>