ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแม่น้ำโขงเกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศวิทยาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สัตว์น้ำตามธรรมชาติลดลง หลายชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ที่สำคัญกระทบต่อวิถีการประกอบอาชีพของชาวประมงริมฝั่งแม่น้ำโขงรวมถึงลำน้ำสาขาปลายี่สกไทย หรือปลาเอิน สัตว์น้ำประจำถิ่นน้ำโขง เป็นหนึ่งในนั้น เพราะปลาเอินเป็นปลามีเกล็ดน้ำจืดขนาดกลางถึงใหญ่บ้านเรามีรายงานการพบปลาเอินขนาดใหญ่ในปี 2542 ที่ บ.ท่าไร่ไทยเจริญ ต.ท่าดอกคำ อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ โดยมีขนาดลำตัวยาว 1.5 เมตร และน้ำหนักมากกว่า 61 กก.
ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นปลาน้ำจืดรสชาติดี เป็นที่นิยมบริโภค มีราคา ในตลาดสูงถึง กก.ละ 200-250 บาท เป็นอีกแรงผลักดันให้ปลาชนิดนี้ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากขึ้น
จนที่สุดถูกจัดอยู่ในบัญชีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์ สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) บัญชี 1 มาตั้งแต่ปี 2518
ปัจจุบันยังมีการควบคุมการนำเข้าและส่งออกระหว่างประเทศ โดยผู้ที่ประสงค์ส่งออกต้องขึ้นทะเบียนฟาร์มเพาะพันธุ์กับสำนักเลขาธิการไซเตสก่อนถึงจะส่งออกได้กรมประมงจึงจำต้องหาทางเพาะพันธุ์ขึ้นมา จนประสบความสำเร็จ สามารถเพาะและขยายพันธุ์ด้วยเทคนิคการผสมเทียม และอนุบาลลูกปลา เพื่อปล่อยลง สู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้ตั้งแต่ปี 2517 และเริ่มปล่อยอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2535 จนปัจจุบันปล่อยปลายี่สกไทยไปแล้ว 2,443,037 ตัว
ปัจจุบันมีแคมป์ริมฝั่งแม่น้ำโขง 2 พื้นที่ คือ 1. บ้านน้ำไพร อ.สังคม จ.หนองคาย และ 2.บ้านสองคอน อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร ใช้เป็นที่คอยเฝ้าสังเกตการณ์ และรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาในฤดูวางไข่ช่วง พ.ย.-ก.พ.
ก่อนนำพ่อแม่พันธุ์ปลาพักในถังไฟเบอร์ริมน้ำโขง เพื่อรอรีดไข่ผสมน้ำเชื้อ จากนั้นลำเลียงไข่ที่ผสมแล้วไปเพาะฟัก ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดจังหวัดหนองคาย มุกดาหาร อนุบาลลูกปลาจนได้ขนาด 5-7 ซม. เพราะเป็นขนาดที่มีอัตรารอดสูง จึงปล่อยลงสู่ลำน้ำโขงและลำน้ำสาขาที่ใกล้เคียง
ปีนี้กรมประมงวางเป้าปล่อยปลายี่สกไทยคืนสู่ลำน้ำโขงและลำน้ำสาขาให้ได้ 500,000 ตัว โดยในช่วงปลายเดือนมีนาคม จะปล่อยลูกปลาลอตแรก 100,000 ตัว ที่บ้านสองคอน อ.ห้วยใหญ่ จ.มุกดาหาร.
สะ-เล-เต’>