LINE : ติดต่อผู้ดูแล

ยินต้อนรับเว็บไซต์ข่าวสารเพจข่าวท้องถิ่นบึงกาฬ

วันอังคารที่ 3 ธันวาคม 2024
ข่าวเด่นบึงกาฬ

ไขประโยชน์ ‘ข้าวไรซ์เบอร์รี่’ ทางเลือกใหม่ชาวนาไทย เจาะตลาดคนรักสุขภาพ

T18CT60ObSbLrsQ3h1FFTyBmGmeQYqh5cjsMRnjN6xXvVLu81cUsK2D

รู้หรือไม่ว่า? “ข้าวไรซ์เบอร์รี่” ข้าวสายพันธุ์ใหม่สีสันแปลกตา อาหารยอดนิยมสำหรับคนรักสุขภาพ และกำลังได้รับความสนใจในตลาดปัจจุบัน มีคุณสมบัติที่โดดเด่นอย่างไร? แล้วทำไมรัฐบาลจึงต้องส่งเสริมนำร่องให้เป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์?

วันนี้ “ไทยรัฐออนไลน์” ก็ไม่รอช้า พามุ่งหน้าสู่จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย เพื่อทำความรู้จักกับไรซ์เบอร์รี่ พร้อมชมแปลงนาข้าวอย่างใกล้ชิด!

พื้นที่แปลงนาใน ตำบลชุมภูพร อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ

ผู้สื่อข่าวเดินทางลงพื้นที่แปลงนา บ้านพรมงคล หมู่ที่ 12 ตำบลชุมภูพร อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเกษตรกรท่านหนึ่ง ได้เล่าถึงที่มาของข้าวไรซ์เบอร์รี่ ว่า เป็นข้าวที่มาจากการปรับปรุงพันธุ์ โดยการผสมเลียนแบบธรรมชาติ ระหว่างข้าวเจ้าหอมนิล และข้าวขาวดอกมะลิ 105 แล้วค่อยคัดเลือกผ่านเทคโนโลยีชีวภาพจนได้พันธุ์ข้าวที่มีความบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นผลงานการพัฒนาพันธุ์ข้าวพิเศษ ของศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และได้ยื่นจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ โดย รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ภาควิชาพืชไร่นา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ทำให้ข้าวพันธุ์นี้ ถูกห้ามนำไปขยายพันธุ์เชิงการค้าต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก วช. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ข้าวสายพันธุ์ใหม่ สีสันแปลกตา

ส่วนลักษณะของข้าวไรซ์เบอร์รี่นั้น เป็นข้าวเจ้า สีม่วงเข้ม รูปร่างเมล็ดเรียวยาว ปลูกได้ตลอดทั้งปี ให้ผลผลิตต่อไร่ในจำนวนปานกลาง มีคุณสมบัติทางเนื้อสัมผัสหลังการหุงต้มที่ หอม นุ่ม น่ารับประทาน และสามารถรับประทานร่วมกันกับอาหารได้หลายประเภท แถมยังมีรสชาติที่อร่อยอีกด้วย

สิ่งที่ทำให้ข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีความพิเศษกว่าข้าวชนิดอื่นๆ คือ เป็นพันธุ์ข้าวที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศเย็น เพื่อสร้างสีเมล็ดและลักษณะประจำพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งจะมีความสูง 105-110 เซนติเมตร อายุเก็บเกี่ยวจะอยู่ที่ 130 วัน ให้ผลผลิต 300-500 กิโลกรัมต่อไร่ มีเปอร์เซ็นต์ข้าวกล้อง 76% ต้นข้าวหรือข้าวเต็มเมล็ด 50% ความยาวของเมล็ดข้าวเปลือก 11 มิลลิเมตร ข้าวกล้อง 7.5 มิลลิเมตร ข้าวขัด 7.0 มิลลิเมตร

นายพงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ

นายพงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ได้เผยว่า จังหวัดบึงกาฬค่อนข้างได้เปรียบเพราะเป็นจังหวัดเดียวในภาคอีสานที่ไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง ด้วยลักษณะทางกายภาพที่ตั้งอยู่ทางอีสานเหนือ มี 5 ลุ่มน้ำ จึงมีน้ำตลอดทั้งปีแน่นอน 
โดยพื้นเพของคนบึงกาฬ ใน 1 ครัวเรือน ทุกครอบครัว 84% เป็นเจ้าของสวนยาง 1-30 ไร่ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าถ้าดำเนินชีวิตด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทุกครัวเรือนที่มีรายได้ประมาณเดือนละ 7,000-8,000 บาท จะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างไม่ลำบากโดยที่ไม่ต้องขวนขวายอะไรเพิ่ม

บึงกาฬ จังหวัดเดียวในภาคอีสาน ที่ไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง

เพราะฉะนั้นแล้ว ข้าวไรซ์เบอร์รี่จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มาเติมเต็มชีวิตคนบึงกาฬ ถัดมาคือรายได้จากการท่องเที่ยว และการปรับพื้นที่ 1-3% ให้เป็นสวนผลไม้ และไม่ต้องกังวลเรื่องผลผลิตข้าวไรซ์เบอร์รี่จะล้นตลาด เนื่องจากทั้งจังหวัดไม่ได้ปลูกข้าวชนิดนี้ทั้งหมด แต่จะปลูกในเฉพาะชุมชนที่มีความพร้อมจริงๆ เท่านั้น

แต่การดำเนินงานทุกอย่างจะประสบความสำเร็จไม่ได้ง่ายๆ หากขาดซึ่งการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งนางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เผยว่า ทางรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการยกระดับสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น จึงได้เกิดโครงการ “รักใครให้ไรซ์เบอร์รี่” ขึ้นมา ซึ่งเป็นโครงการที่เริ่มทำมาตั้งแต่ปลายปี 2557 สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่เกี่ยวข้าวไรซ์เบอร์รี่

นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ กลุ่มข้าวไรซ์เบอร์รี่วัลเลย์ อู่คำ จังหวัดบึงกาฬ ขึ้นมา เพื่อผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มของชาวนาผู้ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ที่จะได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงข้อมูล แหล่งเงินทุน ทรัพยากรทางการตลาด และมีอำนาจการต่อรองในการซื้อหาปัจจัยการผลิต พร้อมทั้งได้มีการแปรรูปข้าวไรซ์เบอร์รี่ให้เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นอีกด้วย และในขณะเดียวกันก็ยังได้ใช้กลยุทธ์ในการทำแผนธุรกิจ และพัฒนาระบบการจัดการคุณภาพมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล เพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ต่อไปหลังจากโครงการสิ้นสุด

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ นับเป็นสินค้านำร่อง ตามความต้องการของรัฐบาล ที่อยากให้ประชาชนใส่ใจสุขภาพ โดยหันมาบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์และยังเป็นการส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง โดยได้กระตุ้นให้มีการเพาะปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ในระบบเกษตรอินทรีย์ ที่มีความปลอดภัยกับทั้งตัวเกษตรกรและผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ต่อยอดไปสู่ผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ และยกระดับชีวิตเกษตรกรนั่นเอง

น้ำข้าวไรซ์เบอร์รี่ สินค้าแปรรูปจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ หอม หวาน แถมมีประโยชน์มากมาย

สินค้าที่ได้จากข้าวไรซ์เบอร์รี่

นอกจากประโยชน์ด้านเศรษฐกิจระดับชุมชนแล้ว คุณรู้หรือไม่? ข้าวสายพันธุ์ใหม่สีสันแปลกตา อย่างข้าวไรซ์เบอร์รี่ ยังเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร ถูกใจคนรักสุขภาพแน่นอน!…

โอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อโครงสร้างและการทำงานของสมอง ตับและระบบประสาท รวมถึงลดระดับคอเลสเตอรอล

ธาตุสังกะสี ที่ช่วยสังเคราะห์โปรตีน สร้างคอลลาเจน รักษาสิว ป้องกันผมร่วง กระตุ้นรากผม

ธาตุเหล็ก สำหรับสร้างและจ่ายพลังงานในร่างกาย เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง และเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ออกซิเจนในร่างกาย และสมอง

วิตามินอี ชะลอความแก่ ผิวพรรณสดใส ลดอัตราเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดสมองและหัวใจ ทำให้ปอดทำงานดีขึ้น

วิตามินบี 1 ที่จำเป็นต่อการทำงานของสมอง ระบบประสาท ระบบย่อย ป้องกันโรคเหน็บชา

เบต้าแคโรทีน ช่วยชะลอความแก่ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง บำรุงสายตา

ลูทีน ป้องกันจอประสาทตาเสื่อม บำรุงการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงตา

โพลิฟีนอล ทำลายฤทธิ์ของอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง

แทนนิน แก้ท้องร่วง แก้บิด สมานแผล แผลเปื่อย

แกมมา โอไรซานอล ลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในหลอดเลือด ทำให้เลือดหมุนเวียนไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ได้อย่างเป็นปกติ ลดอัตราเสี่ยงของโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง สมองเสื่อม

จากข้างต้นจะเห็นได้ว่า ข้าวไรซ์เบอร์รี่ จึงเป็นอาหารเพื่อสุขภาพเหมาะกับทุกเพศทุกวัย หากผู้สูงวัยรับประทาน ก็จะช่วยทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากสตรีมีครรภ์รับประทาน ก็จะช่วยทำให้เด็กในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรง ป้องกันไม่ให้เด็กเป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ พร้อมทั้งมีสรรพคุณช่วยควบคุมน้ำตาล เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานอีกด้วย

เปี่ยมไปด้วยคุณค่าและสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย

การที่กระทรวงพาณิชย์ หันมาให้ความสำคัญกับข้าวไรซ์เบอร์รี่มากขึ้นนั้น ย่อมส่งผลดีในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการช่วยเหลือเกษตรกร การส่งออกไปยังตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งในแง่ของสุขภาพคนไทย ที่จะได้รับประทานข้าวที่อร่อยและเหนียวนุ่ม แถมคุณค่าทางอาหารที่สูงมากอีกด้วย.

ข่าวไทยรัฐออนไลน์  https://www.thairath.co.th/content/590531‘>

ข่าวเด่นบึงกาฬ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด