“ ภูสิงห์ บึงกาฬ ” อยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงดิบกะลา ป่าภูสิงห์ และป่าดงสีชมพู เนื้อที่ประมาณ 12,000 ไร่ สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทรายทอดตัวไปตามทิศเหนือ-ใต้ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอศรีวิไลกับอำเภอเมืองบึงกาฬ มีทรัพยากรป่าไม้ที่คงสภาพสมบูรณ์ ภูเขาหินทรายบน ภูสิงห์เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาของเปลือกโลกในลักษณะต่างๆ เกิดการเรียงตัวของก้อนหิน เกิดหน้าผา ถ้ำ กลุ่มหินรูปทรงต่างๆ ลานหิน กระจายทั่วภูสิงห์ ทำให้เกิดความงามตามธรรมชาติลักษณะต่างกันบนภูสิงห์สามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกในภูเดียวได้เหมาะสมที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ และท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจสำหรับนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป จังหวัดบึงกาฬและกรมป่าไม้ จึงได้พัฒนาพื้นที่ ภูสิงห์เพื่อให้เกิดความยั่งยืนตามหลักอนุรักษ์
ภูสิงห์ บึงกาฬ
มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สำคัญได้แก่
1. ลานธรรมภูสิงห์
เป็นลานกว้างอยู่ด้านทิศเหนือของภูสิงห์ มีหินทรายแดงขนาดใหญ่มองดูคล้ายสิงโตมอบอยู่ข้างลาน จึงเป็นที่มาของชื่อ “ภูสิงห์” และ มีพระพุทธรูป ”หลวงพ่อพระสิงห์” ประดิษฐานอยู่เป็นสถานที่พระสงฆ์และฆราวาสใช้เป็นที่สวดมนต์ภาวนาและจัดกิจกรรมทางศาสนาประจำทุกปี
2. จุดชมวิวลานธรรม
เป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามอยู่ด้านตะวันออกของภูสิงห์เข้าถึงได้ง่าย สามารถมองเห็นแม่น้ำโขง เมืองปากกระดิ่ง สปป.ลาวและป่าภูวัว เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าได้เป็นอย่างดี
3. จุดชมวิวผาน้ำทิพย์
มีลักษณะเป็นหน้าผาหินสูงด้านทิศตะวันออกของ ภูสิงห์ จุดนี้จะมองเห็นทิวทัศน์เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูวัว แม่น้ำโขงและพื้นที่ สวนยางพาราของชาวบ้านตำบลชัยพร ตำบลโคกก่อง อำเภอเมืองบึงกาฬ
4. หินสามวาฬ
เป็นหินขนาดใหญ่ติดหน้าผาสูง แยกเป็น ๓ ก้อน มองไกลหรือมองจากภาพถ่ายทางอากาศ มีรูปร่างคล้ายปลาวาฬ พ่อ แม่ ลูก กำลังว่ายน้ำกันอย่างสนุกสนาน จึงเรียกกันว่า”หินสามวาฬ”เป็นจุดชมวิวที่สวยงามโดดเด่น อยู่ด้านตะวันออกภูสิงห์ เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า สามารถยืนชมทัศนียภาพของป่าภูวัว ห้วยบังบาตร แก่งสะดอก หาดทรายแม่น้ำโขงและภูเขาเมืองปากกระดิ่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
5. ถ้ำใหญ่
อยู่ด้านตะวันออกของภูสิงห์ ลักษณะถ้ำเป็นถ้ำขนาดใหญ่สามารถจุคนได้ ๓๐๐-๕๐๐ คน ในอดีตการสู้รบระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ถึงปี ๒๕๒๓ ถ้ำใหญ่ถูกใช้เป็นสถานที่พัก ที่หลบภัย และที่ปฐมพยาบาลของฝ่าย ผ.ก.ค.
6. จุดชมวิวถ้ำฤาษี
อยู่ด้านตะวันออกของภูสิงห็เป็น จุดนี้จะเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ติดหน้าผาสูง มองเห็นวิวกว้าง สวยงาม มองเห็นทัศนียภาพของป่าภูวัว ภูทอกใหญ่ เห็นแม่น้ำโขง แก่งสะดอก หาดทรายแม่น้ำโขง และภูเขาเมืองปากกระดิ่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า ในอดีตที่แห่งนี้เคยมีฤาษีมานั่งบำเพ็ญเพียร จึงเป็นที่มาของชื่อสถานที่
7. สมรภูมิภูสิงห์
มีลักษณะเป็นหลุมบังเกอร์ หลุมหลบภัย หลุมสอดแนมข้าศึก ของ ผ.ก.ค.ในอดีต บริเวณนี้มีประวัติการสู้รบกันระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ก่อการคอมมิวนิสต์หรือ ผ.ก.ค.เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ถึงปี ๒๕๒๓ ทำให้บริเวณนี้มีร่องรอยการสู้รบหลงเหลือให้เห็นถึงปัจจุบัน
8. หินหัวช้าง
อยู่ด้านตะวันตกของภูสิงห์ ลักษณะก้อนหินมองไกลคล้าย หัวช้าง หากยืนบนหัวช้างจะเห็นโขดหินเรียงรายด้านข้าง แปลกตาเป็นมุมโค้งริมหน้าผาคล้าย “แกรนด์แคนยอน”จุดนี้สามารถมองเห็นพื้นที่สวนยางพาราเป็นบริเวณกว้าง
9. หินช้าง
ลักษณะเป็นหินขนาดใหญ่คล้ายช้างครึ่งตัว อยู่ติดหน้าผาสูงชันฝั่งตะวันตกทางขึ้นภูสิงห็ บริเวณรอบๆ มีต้นไผ่ขึ้นปกคลุม มองเห็นวิวพื้นที่สวนยางพาราอำเภอเมืองและอำเภอศรีวิไล
10. หินรถไฟ
เป็นจุดที่สำคัญและโดเด่นของพื้นที่ภูสิงห์ลักษณะเป็นก้อนหินขนาดใหญ่มองไกลๆคล้ายหัวขบวนรถไฟ บริเวณด้านล่างมีแหล่งน้ำ มีโขดหินรูปร่างโดดเด่น มีพืชพรรณธรรมชาติที่แปลกตา เป็นจุดที่ต้องเดินทางไกลและเป็นจุดสุดท้ายของภูสิงห์ เมื่อเดินทางถึงแล้วสามารถขึ้นไปยืนอยู่บนหินรถไฟ จะเห็นวิวทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของภูสิงห์
11. ส้างร้อยบ่อ มีลักษณะเป็นหลุมขนาดใหญ่-เล็ก จำนวนมากเป็นที่มาของ คำว่า “ส้างร้อยบ่อ” มีความหมายตามภาษาไทยว่า “บ่อน้ำร้อยบ่อ” เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา การเซาะกร่อนของลม ฝน อยู่ติดหน้าผาด้านตะวันตก ในฤดูฝนมีน้ำขัง จุดนี้มองเห็นศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ เป็นจุดชมทัศนียภาพที่สวยงามเวลาใกล้พลบค่ำดวงอาทิตย์ตก
12. กำแพงหินภูสิงห์
อยู่ทางด้านทิศเหนือของภูสิงห์ มีลักษณะเป็นกำแพงหินสูง ซึ่งเกิดจากการเซาะกร่อนของลม ฝนและ เรียงซ้อนกันของชั้นหินตามธรรมชาติ เกิดเป็นลวดลายแปลกตา
13. ลานหินลาย
ลักษณะเป็นหลุมเล็กๆจำนวนมากเกิดจากธรรมชาติมองดูไกลๆเป็นลานหินบริเวณกว้าง ชาวบ้านเรียกขานว่า “ลานหินลาย” มีหญ้าขึ้นกระจายปกคลุม ฤดูแล้งหญ้าจะแห้งตาย ฤดูฝนหญ้าจะฟื้นสภาพเป็นสีเขียวหย่อมๆ ดูสวยงาม
นอกจากจุดเด่นทางธรรมชาติ ที่สำคัญดังกล่าวแล้ว “ภูสิงห์บึงกาฬ” ยังมีจุดเด่นของก้อนหิน หน้าผา ถ้ำ ลานหิน อีกหลายจุดหากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมสามารถติดต่อขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ที่ เบอร์ด้านล่าง
ติดต่อศูนย์บริการข้อมูล ฝ่ายบริหารทั่วไป โทร.088-536-2717
แผนที่การเดินทาง “ภูสิงห์ บึงกาฬ”
ภาพช่วงฤดูฝน บนภูสิงห์ ของจังหวัดบึงกาฬ เป็นภาพที่สวยงามตามธรรมชาติ ที่จังหวัดของเราที่ยังหลงเหลือให้ชมกัน
ขอขอบคุณภาพจากเฟสบุค คุณ Sak Saysud ติดตามทางเฟสเจ้าของภาพได้ ชมภาพคลิกที่รูป
[origincode_photo_gallery_wp id=”4″]
[origincode_photo_gallery_wp id=”2″]
‘>