ประเพณีแห่น้ำจั้นเป็นวัฒนธรรมของชาวบ้านท่าไคร้และชาวจังหวัดบึงกาฬ ที่มีมาอย่างยาวนาน โดยจะจัดพิธีแห่น้ำจั้นในช่วงท้ายเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 19 เมษายน 2565 บริเวณริมโขงบ้านท่าไคร้ ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ น้ำจั้นแห่งนี้ได้เล่าต่อกันมาว่าบรรพบุรุษได้ใช้น้ำจั้นหรือบ่อน้ำซึมที่มีความสูงกว่าระดับน้ำโขงและไหลลงน้ำโขงตลอดทั้งปีไม่มีแห้ง เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ไว้ใช้สำหรับทำพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ
วันนี้ (19 เมษายน 65) มีพิธีรำบวงสรวงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และพิธีพราหมณ์สวดขอพรให้ชาวบึงกาฬ ตามด้วยขบวนแห่น้ำจั้นที่มีชาวบ้าน ผู้ใหญ่ รวมถึงเด็กได้ช่วยกันหาบน้ำจั้น เพื่อมาสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ หรือที่วัดโพธาราม อันประดิษฐานพระคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดบึงกาฬ บ้านท่าไคร้ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวลาว เป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เพื่อคารวะขอจัดงานสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ในวันเช้าวันถัดไป ซึ่งภายในวัดมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาติต่างให้ความสนใจ ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในชุมชน และสร้างความประทับใจสู่สายตาชาวโลก เป็นการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวให้จังหวัดบึงกาฬต่อไป
สำหรับการสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ นั้น ผู้ชายสามารถเข้าไปสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ได้ภายในอุโบสถ ส่วนผู้หญิงไม่อนุญาตให้เข้าไปสรงน้ำในอุโบสถ แต่เจ้าหน้าที่ได้ทำบันไดเทียบข้างอุโบสถไว้ให้ขึ้นไปสรงน้ำผ่านท่อที่จัดเตรียมไว้ให้ หรือจะสรงน้ำที่องค์หลวงพ่อพระใหญ่องค์จำลอง ที่ประดิษฐานอยู่นอกอุโบสถก็ได้