LINE : ติดต่อผู้ดูแล

ยินต้อนรับเว็บไซต์ข่าวสารเพจข่าวท้องถิ่นบึงกาฬ

วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน 2024
ข่าวสังคม-การเมือง

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ชูสหกรณ์ฯ เซกา บึงกาฬ ต้นแบบแก้หนี้สินให้เกษตรกร

บิ๊กกรมส่งเสริมสหกรณ์ ตรวจเยี่ยมสหกรณ์ฯ เซกา จ.บึงกาฬ ต้นแบบแก้หนี้สินให้เกษตรกร พร้อมเสนอเข้ารับรางวัลจาก กพร. ปี 65 ประเภทร่วมใจแก้จน
เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 65 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวภายหลังเยี่ยมชมนิทรรศการและผลผลิตจากสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มอาชีพในโครงการ “แก้จน พ้นหนี้ วิถีคนเซกา” ว่า กรมฯ มีนโยบายบรรเทาและแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร โดยได้ดำเนินการโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โครงการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของสมาชิกสหกรณ์ โครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อแก้ปัญหาหนี้และฟื้นฟูอาชีพสมาชิกสหกรณ์ รวมถึงการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้แก่ฝ่ายจัดการของสหกรณ์ เพื่อบริหารจัดการธุรกิจสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของสมาชิก ซึ่งสหกรณ์การเกษตรเซกา จำกัด อ.เซกา จ.บึงกาฬ ถือเป็นต้นแบบที่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรได้และได้รับคัดเลือกจากกรมฯ ให้เป็นผลงานดีเด่นเพื่อเสนอเข้ารับรางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ปี 2565 ประเภทร่วมใจแก้จน

“ผมได้เน้นย้ำให้สมาชิกสหกรณ์อยู่แบบพอเพียง ให้ครอบครัวมีอาหารบริโภคได้เพียงพอ และสามารถต่อยอดนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ เน้นการทำการเกษตรผสมผสาน ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้แบบหมุนเวียนได้ตลอดทั้งปี” นายวิศิษฐ์ กล่าว

นางสาวนิ่มนวล ศรีรักษา ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเซกา จำกัด กล่าวว่า เดิมสหกรณ์ฯ ได้ดำเนินธุรกิจปล่อยเงินกู้ให้กับสมาชิกเพียงอย่างเดียว ส่งผลให้เกิดภาวะหนี้ค้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสมาชิกไม่มีเงินส่งคืน แต่หลังจากมีโครงการนี้ขึ้นมา ทำให้ภาวะหนี้ค้างลดลงจาก 58 ล้านบาท เหลือเพียง 20 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้หนี้ค้างเกิดจากวิกฤติราคายางพาราตกต่ำเมื่อปี 2559 ทำให้สมาชิกไม่สามารถชำระเงินคืนได้

“ชาวเซกาส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือทำสวนยางพารา แต่พอมีปัญหาเรื่องราคาตกต่ำ ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ สหกรณ์จึงทำโครงการส่งเสริมอาชีพแก้จน พ้นหนี้ วิถีคนเซกาโดยการสนับสนุนของกรมส่งเสริมสหกรณ์และสำนักงานสหกรณ์ จ.บึงกาฬ เป็นการกระตุ้นให้ประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้มากขึ้นไม่ต้องพึ่งพารายได้จากยางพาราเพียงอย่างเดียว” นางสาวนิ่มนวลกล่าว และว่าหลังจากเปิดรับสมาชิกเข้าร่วมโครงการฯ ในปี 2560 ก็จัดทำสมาชิกเป็นหมวดหมู่ อาทิ กลุ่มนาเฮาผลิตข้าวอินทรีย์ กลุ่มคนเลี้ยงสุกร กลุ่มเกษตรผสมผสาน เป็นต้น โดยเจ้าหน้าที่สหกรณ์เข้าไปส่งเสริมอาชีพสมาชิกแต่ละรายในแต่ละกลุ่ม

สำหรับกลุ่มคนเลี้ยงสุกรจะต้องมีความสนใจ และมีวินัยมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เนื่องจากเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง ส่วนการส่งเสริมจะดำเนินการแบบครบวงจร ตั้งแต่การสร้างคอกโดยให้สมาชิกกู้รายละไม่เกิน 3 หมื่นบาทปลอดดอกเบี้ย จากนั้นก็สนับสนุนลูกสุกรขุนให้สมาชิกรายละ 10 ตัวจากพ่อแม่พันธุ์สุกรสายพันธุ์สวนยาง พร้อมกับหัวอาหาร โดยสหกรณ์ร่วมกับบริษัทผลิตอาหารสูตรเฉพาะสำหรับสุกรสายพันธุ์ดังกล่าวให้กับทางสหกรณ์โดยตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ส่วนเรื่องตลาดจะมีคณะกรรมการฯ ดูแล ที่อยากต่อยอดต่อไปคือการตั้งกลุ่มแปรรูปสุกร เช่น สไลด์เนื้อ ทำกุนเชียง เป็นต้น เพราะบางครั้งไม่สามารถส่งออกนอกได้ ซึ่งปกติสุกรของสมาชิกจะส่งไปนครพนม สปป.ลาวและเวียดนามพอเกิดวิกฤติโควิด-19 ก็ไม่สามารถเคลื่อนย้ายสุกรตัวเป็นๆ ได้

นายสมัคร พิมพิลา อายุ 46 ปี สมาชิกสหกรณ์ฯ เซกา และประธานกลุ่มคนเลี้ยงสุกร เล่าว่า เริ่มแรกเลี้ยงสุกรเป็นอาชีพเสริม เพราะต้องการมูลสุกรมาผลิตปุ๋ยชีวภาพใส่สวนยางพาราเพื่อลดต้นทุนการผลิตจากปุ๋ยแพง แต่ปรากฏสร้างรายได้ดี ทำให้ศึกษาวิธีการเลี้ยงอย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นซื้อพ่อแม่พันธุ์ดูร็อค ลาร์จไวท์และแลนด์เรซจากฟาร์มสุกรในจ.บุรีรัมย์และราชบุรีจำนวน 10 ตัวเพื่อนำมาพัฒนาเป็นสุกร 3 สายพันธุ์เลือดนิ่ง ถึงวันนี้มีสุกรขุน 3 สายพันธุ์พร้อมจำหน่ายจำนวน 160 ตัว นอกจากนี้ยังผลิตน้ำเชื้อสุกรจำหน่ายให้กับสมาชิกกับเกษตรกรที่สนใจด้วย.

 

ข่าวสังคม-การเมือง ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด