รายงานพิเศษบึงกาฬ / สุจิต เมืองสุข
หลายตำบลในอำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ กลายเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากที่สำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬเร่งหาวิธีแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเข้าพื้นที่ศึกษาวิจัยในพืชที่สามารถปลูกเพื่อสร้างรายได้ในฤดูน้ำหลาก พบว่ามีพืชที่สามารถปลูกได้หลายชนิด แต่เพราะความเคยชินของเกษตรกรในพื้นที่ที่ประกอบอาชีพทำนา ทำให้การส่งเสริมเพื่อการเรียนรู้สำหรับเกษตรกรเป็นไปได้ไม่รวดเร็วนัก
แต่สำหรับคุณนรินทร์ ศรีวรษา เกษตรกรที่ยึดอาชีพทำนามาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีผืนนาตั้งอยู่บริเวณหมู่ 4 บ้านนาดงน้อย ตำบลนาดวง อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากมาโดยตลอด กลับพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสเมื่อน้ำหลากเข้าท่วมผืนนา ไม่สามารถปลูกข้าวได้ตามปกติ
จากพื้นที่เดิมทั้งหมดกว่า 70 ไร่ เมื่อถูกจัดสรรให้กับพี่น้องแล้ว คุณนรินทร์ เหลือพื้นที่ทำนาราว 7 ไร่ และยังคงยึดอาชีพทำนาสร้างรายได้หลักให้กับครอบครัว แต่นับตั้งแต่ปี 2530 คุณนรินทร์ บอกอย่างยอมรับสภาพดินฟ้าอากาศที่เกิดขึ้นในทุกปีว่า ข้าวถูกน้ำท่วมทุกปี ในการทำนาทุก 3-4 ปี จะได้กำไรจากการปลูกข้าวเพียงครั้งเดียว
คุณสำรวย มีจินดา เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬ ให้ข้อมูลในการศึกษาพืชที่เหมาะสมสำหรับปลูกในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก พบว่ามีพืชประเภทบัว ข่าธรรมชาติ หญ้าแฝก และอื่นๆ จึงเลือกพืชดั้งเดิมที่สามารถหาได้ง่ายมาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก ซึ่งในจำนวนนั้น “บัว” เป็นพืชที่เหมาะสมด้วย
“พันธุ์บัวเฉพาะที่อำเภอปากคาดมีมากถึง 7 สายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกเชิงการค้า คือ พันธุ์หนองนาบอน ที่ฝักจะแบนราบ ขอบฝักไม่เป็นขอบชัดเหมือนบัวพันธุ์อื่น เมล็ดจะโผล่ขึ้นมา รสชาติหวานกรอบ ความกรอบของเมล็ดจะช่วยให้ท้องไม่ผูก เพราะรับประทานแล้วเมล็ดบัวจะกลายเป็นน้ำตาลไม่ใช่แป้ง”
คุณนรินทร์ แม้แรกเริ่มจากการทำนาเพื่อยังชีพเพียงอย่างเดียว เมื่อถูกคุกคามด้วยภัยธรรมชาติในทุกปี การปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดจึงเกิดขึ้น
“มีคนตัดฝักบัวมาขายในตลาดปากคาด รสชาติดี คนติดใจ เลยคิดอยากปลูกบ้าง ไปขอซื้อคคนขายให้ไปขุดจากตมซึ่งเป็นที่นาถูกน้ำท่วมเหมือนกัน แต่บัวในหนองน้ำติดที่นาล้ำออกมาเมื่อน้ำท่วม ครั้งแรกซื้อมาราคาต้นละ 10 บาท จำนวน 400-500 ต้น จ้างรถไถนาอีกประมาณ 20,000 บาท หมดกับต้นทุนครั้งแรกเกือบ 4,000 บาท แต่สุดท้ายไม่ได้อะไรเลย”
ปัจจัยที่ทำให้คุณนรินทร์ไม่ได้ผลผลิตจากการลงทุนในครั้งนั้น เนื่องจากไม่มีความรู้ทางการปลูกบัว เมื่อน้ำท่วมบัวทำให้บัวไม่โตและไม่ออกฝัก ทั้งยังประสบปัญหาหอยเชอรี่ แต่ในท้ายที่สุดการสังเกตทำให้คุณนรินทร์รู้ว่า การควบคุมระดับน้ำในที่นาเพื่อปลูกบัว เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการเพิ่มผลผลิต
“ปกติการปลูกบัวของที่อื่น คือ รอให้ถึงฤดูน้ำหลากแล้วจึงปลูก แต่ผมไม่รอธรรมชาติ ลองปลูกแบบนาปรัง คือ ย่ำคราดและลงบัวหน้าแล้ง ปล่อยน้ำลงในนา เมื่อถึงฤดูฝนบัวจะเจริญเติบโตในระดับที่มีความแข็งแรงพอดี ทำให้บัวไม่ตาย”
บัวพันธุ์หนองนาบอน ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬเรียก เป็นกลุ่มบัวชนิดเดียวกับบัวหลวง ซึ่งชื่อพันธุ์ตั้งขึ้นตามถิ่นที่พบ คือ หนองนาบอน
วิธีการปลูกบัวให้ได้ฝักนอกฤดู เพื่อราคาขายและความต้องการของตลาดที่มากขึ้น คุณนรินทร์ ใช้วิธีย่ำคราดและลงบัวในฤดูแล้ง ปล่อยน้ำเข้าแปลงความสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร เมื่อเข้าฤดูฝนใช้วิธีควบคุมระดับน้ำด้วยการสูบน้ำออก เพื่อควบคุมระดับน้ำไว้ จากนั้นค่อยๆ เติมน้ำเข้าแปลงเพื่อเพิ่มระดับน้ำครั้งละไม่เกิน 10 เซนติเมตร บัวจะเริ่มสูงตามระดับน้ำที่สูงขึ้นเสมือนเป็นการปรับตัวทำให้บัวไม่ตายการลงบัวในแปลงหลังจากย่ำคราดและปล่อยน้ำเข้าแปลงแล้ว ดูระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 5-6 เมตร หากถี่เกินไปจะทำให้หาหน่อเมื่อเริ่มปลูกใหม่ยาก
การปลูกเหมือนการดำนา คือ ใช้มือขุดดินลงไปนิดเดียวแล้วนำขี้ดินที่ขุดขึ้นมากลบบัวไว้ หากขุดลึกเกินไปบัวจะไม่เจริญเติบโต ในระยะแรกปลูกไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยทุกชนิด เพราะเป็นฤดูหนาวที่บัวหยุดการเจริญเติบโต แต่ควรมีน้ำเลี้ยงในแปลงไว้ตลอด เมื่อเข้าฤดูร้อนควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 จากนั้นปล่อยให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติ
ก่อนเข้าฤดูฝน คุณนรินทร์สามารถตัดฝักขายได้จำนวนหนึ่งแล้ว เพราะการใช้วิธีสูบน้ำเข้าแปลง ส่งผลให้บัวออกฝักก่อนฤดู พ่อค้าแม่ค้าจะมารอซื้อจากแปลงไปขายเพราะมีเพียงรายเดียว ไม่ต้องแย่งตลาดเหมือนเกษตรกรผู้ปลูกบัวตามฤดูรายอื่น
ราคาขายส่งต่อฝักอยู่ที่ฝักละ 1 บาท แต่ถ้ามัดรวมแล้วจำนวน 7 ฝัก ขายในราคา 10 บาท
ระดับน้ำตั้งแต่เริ่มปลูกถึงเก็บฝักอยู่ที่ 20-50 เซนติเมตร หากสูงกว่านั้นลำต้นบัวจะสูงขึ้น ส่งผลให้ยากต่อการเก็บ
ตลาดการค้าบัวตัดฝักครอบคลุมถึงตลาดหนองคายและบึงกาฬ โดยเฉพาะตลาดปากคาดจะมีให้เห็นวางจำหน่ายมากกว่าแหล่งอื่น แต่จะพบเห็นในงานเทศกาลของจังหวัดด้วย ซึ่งพ่อค้าแม่ค้ารายใหญ่จะมารับบัวตัดฝักไปในปริมาณมาก จากนั้นนำฝักมัดเป็นกลุ่มแล้วจ้างพ่อค้าแม่ค้าเร่ขายในงานเทศกาลต่างๆ
บัวตัดฝักของคุณนรินทร์เริ่มจากผืนนาประมาณ 4 ไร่ จากนั้นเมื่อมีรายได้เข้าในทุกปี เริ่มซื้อแปลงนาเพิ่มเพื่อปลูกบัว ทั้งยังปลูกข้าวสลับปลูกบัวไปด้วย ขึ้นอยู่กับราคาตลาดขณะนั้นของพืชทั้งสองชนิด หรือในบางคราวที่ยังไม่ทราบราคาตลาดที่แน่ชัด ในแปลงเดียวกันคุณนรินทร์ปลูกพืชทั้งสองชนิดเข้าด้วยกัน หากข้าวได้ราคาดีกว่าระดับน้ำในนาจะสูงขึ้นเพื่อบังคับให้บัวไม่เจริญเติบโต เมื่อได้ผลผลิตจากข้าวแล้วจึงย่ำแปลงเพื่อกระตุ้นให้บัวเจริญเติบโตได้ใหม่
ต้นทุนการผลิตการปลูกบัวตัดฝักขาย มีเพียงปุ๋ยและแรงงานจ้างเก็บฝัก ส่วนบัวในทุกปีหลังเก็บผลผลิตแล้วหน่อบัวจะยังคงอยู่ในแปลง รอการเจริญเติบโตเมื่อมีน้ำ
คุณนรินทร์ บอกว่า ฝักบัวในภาคอีสานจะขายดีกว่าดอกบัว ซึ่งแม้จะมีความสวยงามแต่ความนิยมในการนำดอกไปใช้ประโยชน์ในภาคอีสานไม่มี
รายได้จากการตัดฝักบัวขายของคุณนรินทร์อยู่ที่ปีละ 300,000-400,000 บาทต่อปี ทั้งที่ขายส่งเพียงฝักละ 1 บาทเท่านั้น
ความพิเศษของแปลงบัวคุณนรินทร์อยู่ที่ หลังเก็บฝักบัวแล้วตอบัวจะไม่เหลือให้เห็น เพราะทุกครั้งที่เก็บฝักจะดึงตอทิ้งเสมอ เป็นการช่วยให้บัวในแปลงดูใหม่ตลอดเวลา
ปัจจุบันที่นาสำหรับทำนาปรังอยู่ที่ 10 ไร่ต่อปี ส่วนอีกกว่า 20 ไร่ คุณนรินทร์จัดการให้เป็นแปลงบัว ดังนั้น แม้ว่าแปลงบัวตัดฝักในอำเภอปากคาดมีให้เห็นได้ในฤดูฝน แต่ถ้าสนใจชมนอกฤดูต้องไปที่แปลงคุณนรินทร์เพียงรายเดียวเท่านั้น
เดินทางไปชมกันถึงที่ได้ที่ บ้านเลขที่ 75 หมู่ 4 บ้านนาดงน้อย ตำบลนาดวง อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ หรือโทรศัพท์สอบถามเทคนิคการปลูกได้ที่คุณนรินทร์ ศรีวรษา โทรศัพท์ 083-3285042
http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1462168790‘>