LINE : ติดต่อผู้ดูแล

ยินต้อนรับเว็บไซต์ข่าวสารเพจข่าวท้องถิ่นบึงกาฬ

วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน 2024
ข่าวเด่นบึงกาฬ

กฎเหล็ก EU เล่นงานยางไทย ปลูกรุกป่า 6 ล้านไร่ห้ามนำเข้า

ชาวสวนยางพาราบุกรุกป่าเกือบ 500,000 รายหนาว หลังสหภาพยุโรป-สหรัฐบังคับใช้มาตรฐานจัดการป่าไม้ยั่งยืน (FSC) กฎหมายสินค้าปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free Product) ขอตรวจสอบย้อนกลับสินค้ายางและผลิตภัณฑ์จะต้องไม่มีที่มาจากสวนยางที่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ ด้านสหพันธ์ชาวสวนยางพารา เสนอทางออกให้รัฐเปิดให้เช่าพื้นที่ป่าสงวนฯที่ถูกสวนยางบุกรุก 5-6 ล้านไร่ ขณะที่การยางจัดทำระบบ national platform รวบรวมข้อมูลสวนยาง 1.8 ล้านราย

ผลิตภัณฑ์จากยางพาราของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาง (latex), ยางก้อนถ้วย (cup lump), ยางเครป (rubber crepe), ยางแผ่นดิบ (rubber sheet) ยางแผ่นรมควัน (rubber smoked sheet) กำลังเผชิญกับมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนตามมาตรฐาน FSC (Forest Stewardship Council) ขององค์กรภาคเอกชน หรือกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free Product) ของสหภาพยุโรป

โดยมาตรฐาน FSC ปัจจุบันได้มีการใช้เป็นการทั่วไปแล้ว จากองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือเป็นผู้ให้การรับรองมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นการรับประกันว่า ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC นั้น เป็นไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ไม่ได้มาจากป่าธรรมชาติ ทำให้ผู้ซื้อมั่นใจได้ว่า สินค้านั้น ๆ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากป่าปลูกที่มีการจัดการป่าไม้อย่างถูกต้อง สามารถ “จำแนก” ออกมาจากไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่มีที่มาจากสวนยางพาราที่บุกรุกทำลายป่า

โดยปัจจุบัน การยางแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมชาวสวนยางให้ปฏิบัติตามมาตรฐาน FSC ในนามของสมาชิกกลุ่มจัดการสวนยางพารา (FSC) แล้ว ส่วนการออกกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า ปัจจุบันคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ได้ให้ความเห็นชอบไปแล้ว และกำลังเข้าสู่กระบวนการประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายภายในปี 2567

จะส่งยางต้องทำ Due Diligence

มีรายงานข่าวเข้ามาว่า กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free Product) ของสหภาพยุโรป มีวัตถุประสงค์ห้ามการนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้เข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป เพื่อควบคุมสินค้า 7 กลุ่มที่มีส่วนในการทำลายป่า

ได้แก่ ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, เนื้อวัว, ไม้, กาแฟ, โกโก้ และถั่วเหลือง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเหล่านี้ โดยสินค้าที่จะได้รับอนุญาตให้จำหน่ายหรือส่งออกได้จะต้องผ่านกระบวนการที่เรียกว่า due diligence เสียก่อน จึงจะนำเข้าไปจำหน่ายในสหภาพยุโรปได้

การนำเข้าและส่งออกตามกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติไว้ 3 ประการคือ 1) ต้องปลอดจากการทำลายป่า 2) สินค้านั้นต้องผลิตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเทศผู้ผลิต และ 3) ผู้ประกอบการจะต้องทำ due diligence ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ก่อนการวางจำหน่าย

หากไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน มีการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม จะมีบทลงโทษตามกฎหมาย โดยระบบการตรวจสอบและประเมิน due diligence จะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งกำเนิดสินค้าว่า สินค้านั้นมาจากพื้นที่ที่มีการทำลายป่าหรือทำให้ป่าเสื่อมโทรมมาก่อนหรือไม่

โดยกำหนดให้ผู้ค้า (trader/operator) ต้องจัดทำข้อมูลเพื่อแสดงเอกสาร/หลักฐานยืนยันหรือพิสูจน์ว่า สินค้านั้นเป็นสินค้าที่ “ปลอด” จากการทำลายป่า โดยกระบวนการจัดทำ due diligence จะแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนคือ การรวบรวมข้อมูลรายละเอียดสินค้า ประเทศผู้ผลิต ข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์, ทำการประเมินระดับความเสี่ยงของสินค้าตามระดับของการทำลายป่าและทำให้ป่าเสื่อมโทรม รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศต้นทาง และการจัดการความเสี่ยงด้วยแผนการจัดการ ไปยังหน่วยงานที่เป็น competent authority ของประเทศนั้น ๆ ในการตรวจสอบสินค้าต่าง ๆ

ส่วนการตรวจสอบสินค้าที่นำเข้ามาในสหภาพยุโรปในแต่ละสินค้าที่มีระดับความเสี่ยงต่ำ จะถูกตรวจสอบอย่างน้อย 1% และ 3% ของจำนวนผู้ประกอบการและประเทศที่มีความเสี่ยงสูงจะถูกตรวจสอบอย่างน้อย 9% ของจำนวนผู้ประกอบการ และ 9% ของปริมาณสินค้าที่นำเข้ามา

ทำระบบตรวจสอบสวนยางย้อนกลับ

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า สหภาพยุโรปได้ออกประกาศเตรียมบังคับใช้กฎหมาย Deforestation-free Product ที่เป็นกฎหมายที่กำหนดให้ผลผลิตจากยางพาราต่าง ๆ ที่จะเข้าตลาดยุโรปต้องแสดงที่มาของผลิตภัณฑ์ว่า “มาจากสวนไหน มีการรุกป่าหรือการกระทำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่”

ซึ่งประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อมเรื่องนี้พอสมควรแล้ว โดยในส่วนของ กยท.มีการเตรียมการเรื่องการขึ้นทะเบียนแปลงเกษตรกร เพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) และในเร็ว ๆ นี้จะมีการทดสอบระบบ national platform ทำการซื้อขาย

สำหรับ national platform จัดเป็นระบบใหม่ที่ต่อยอดมาจากแพลตฟอร์มการซื้อขายตลาดกลาง ที่มีอยู่เดิม โดยดำเนินการพัฒนามาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยแพลตฟอร์มตลาดกลางจะเชื่อมโยงข้อมูลทุกอย่างมาอยู่ด้วยกัน ทำให้ กยท.มั่นใจว่าจะแสดงข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับได้ครบถ้วนทั้ง 100% จากเกษตรกรชาวสวนยางจำนวน 1.8 ล้านคนภายในปีนี้

“กยท.มองว่าเรื่องนี้หากทำสำเร็จจะกลายเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทย ถ้าเราทำได้ ซึ่งผู้ใช้ยางหลาย ๆ รายก็มาคุยกับเราหมดแล้ว นโยบายของ กยท.จะทำ national platform เป็นแผนที่ของประเทศไทยขึ้นมา ผู้ส่งออกยางทุกคน รวมถึงผู้ใช้ยางทุกคนจะใช้ข้อมูลเดียวกับเรา เพราะหากมีหลายแพลตฟอร์ม แต่ละคนทำแพลตฟอร์มของตัวเองจะวุ่นวายมาก

ฉะนั้นการยางต้องทำแพลตฟอร์มกลางขึ้นมา แล้วพอทำเรื่องนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ไทยได้ และจะทำให้ราคายางมันผลักตัวมันขึ้นไปเอง วันนี้้ต้องขึ้นด้วยมาตรฐานและคุณภาพ เพราะเรื่องอื่น คุณภาพราคายางจะใกล้เคียงกัน แต่วันนี้ สู้กันเรื่องการเตรียมความพร้อม การรองรับมาตรฐานต่าง ๆ” นายณกรณ์กล่าว

หาทางออกเป็นเช่า พท.ป่าปลูกยาง

ด้าน ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางพาราแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สวนยางพาราไทยกว่า 20 ล้านไร่ เตรียมรับมือผลกระทบจากกฎระเบียบของ FSC นโยบายมาตรฐานของสภาพิทักษ์ป่า (FSC) เนื่องจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐ ได้ตั้งเงื่อนไขการรับซื้อขายยางพารา ไม้ยางพารา จะต้องมีการรับรอง FSC คือ ต้องเป็นยางพาราที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มาได้อย่างครบถ้วน

ดังนั้นต้องเป็นสวนยางพาราที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะไม่เป็นการปลูกยางพาราที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ไปทำสวนบุกรุกป่าสงวน ป่าวนอุทยาน และป่าชุมชน เป็นต้น

ดร.อุทัยกล่าวอีกว่า สำหรับสวนยางพาราที่อยู่ในป่าสงวน ในป่าวนอุทยาน และป่าชุมชน ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 5-6 ล้านไร่ จะต้องดำเนินการให้ถูกตามกฎหมาย โดยทางสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางพาราแห่งประเทศไทย ได้เสนอต่อทางรัฐบาลไปแล้วถึง “ทางออก” ที่เหมาะสม คือ ให้สวนยางพาราที่อยู่ในป่าสงวน ป่าวนอุทยาน และป่าชุมชน ทำเป็น “สัญญาเช่า” จากหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พศ. 2562 ซึ่งสามารถให้เช่าเป็นที่ทำกินได้ หรือหมายถึงจะให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่า รักษาดูแลป่า โดยไม่สามารถทำลายป่าได้ แต่จะปลูกไม้เพิ่มเติมให้

โดยประเทศผู้ซื้อที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน หรือการปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า ต้องการความสามารถที่จะระบุแหล่งที่มาของยางพารา ไม้ยางพารา ดังนั้น เมื่อยางพารามีที่มาที่ไป ซึ่งผู้รับซื้อยางพารา ผู้ผลิตแปรรูปยางพาราและไม้ยางพารา จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับดูหลักฐานได้ รู้ถึงต้นยาง ที่ตั้งสวนยางพาราได้ทันที โดยการปลูกยางพาราทั้งหมดนั้นได้ขึ้นทะเบียนกับ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) อยู่แล้ว

“มาตรการ FSC นัยหนึ่งก็คือการใช้กฎระเบียบนี้ ไม่ต่างกับต้องการกดราคา แต่เมื่อสวนยางสามารถทำตามมาตรฐาน FSC ได้ ปัญหาการกดราคากีดกันก็จะหมดไป แต่การดำเนินการจัดการทำมาตรฐาน FSC ต้องมีงบประมาณสนับสนุนเข้ามาช่วย” ดร.อุทัยกล่าว

สวนยาง 18 ล้านไร่ ทำ FSC ได้ 10%

นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการ สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนล่าง (กยท.) กล่าวว่า ยางพาราไทย ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบ FSC คือ การจัดการป่าตามมาตรฐานสากล สาเหตุที่มีการจัดตั้งออกระเบียบกฎเกณฑ์ขึ้นมา เนื่องจากมีการบุกรุกป่า ทำลายป่าในหลายประเทศ แล้วมีการปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพารา ฯลฯ ไป ซึ่งได้ถูกกลุ่ม NGO ข้ามชาติ “รวมตัวกันออกมาต่อต้าน” แล้วมีการขับเคลื่อนมายังประเทศไทย ในฐานะประเทศที่ทำสวนยางพาราเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

ในที่สุดจะส่งผลกระทบต่อวงการยางพาราและไม้ยางพาราไทย ในฐานะผู้ผลิตและส่งออกไปยังต่างประเทศเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยยางพาราเฉลี่ยส่งออกปีละประมาณ 4 ล้านตัน และไม้ยางพาราหลายล้านลูกบาศก์เมตร เฉพาะไม้ยางพาราที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มีมูลค่าประมาณ 100,000-120,000 ล้านบาท

ล่าสุด การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เตรียมความพร้อมในการรับมือโดยดำเนินการแล้วอย่างต่อเนื่อง เพราะสวนยางพาราได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายมีจำนวน 18 ล้านไร่ มีชาวสวนยางพาราประมาณ 1.5 ล้านครัวเรือน โดยได้ดำเนินการในส่วน FSC แล้วเสร็จประมาณ 10% หรือจะดำเนินการให้แล้วเสร็จประมาณ 5 ล้านไร่/ปี ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับงบประมาณจะเร็วหรือช้า

โดยในปีแรกใช้งบประมาณ 1.7 ล้านบาท โดยจะต้องใช้งบประมาณในแต่ละปีประมาณ 200,000 บาท ส่วนสวนยางพาราที่อยู่ในเขตป่าสงวน ที่มีปัญหาการทับซ้อนที่ยังไม่ได้ดำเนินการ โดยทางรัฐจะต้องทำการแก้ไขและออกใบรับรอง

นอกจากมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน FSC1 แล้ว ยังมีระเบียบเรื่องของ EUDR ซึ่งรูปแบบไม่ต่างกับ FSC มากนัก แต่จะยืดหยุ่นกว่า FSC ที่จะเข้มงวดมาก โดยประเทศไทยได้รับการรับรองตามมาตรฐาน EUDR เป็นประเทศแรกที่ผ่านมา บริษัทมิชลิน ผู้ผลิตยางล้อรถยนต์ได้เข้าพบ กยท. โดยทาง กยท.ได้ชี้แจงโครงการ FSC และ EUDR ถึงการผลิตยางพาราไทยในรายละเอียดขั้นตอนอย่างรอบด้าน ส่งผลให้การตอบรับเป็นที่พึงพอใจอย่างสูง ทั้งนี้ บริษัทมิชลินรับซื้อยางพาราไทยประมาณ 400,000 ตัน/ปี แปรรูปผลิตล้อยางในประเทศไทย เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ EU

เป็นมาตรการกีดกันทางการค้า

ด้าน นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการ กลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ สถาบันเกษตรกรผู้แปรรูปยางพาราส่งออกต่างประเทศ กล่าวว่า FSC การดำเนินการจัดทำค่อนข้างละเอียด ซึ่งต้องมีเอกสารสิทธิที่ถูกตามกฎหมาย น.ส. โฉนด ฯลฯ ข้อมูลที่ตั้งยางพารา จำนวนปริมาณพื้นที่ไร่ ปริมาณผลผลิตยางพารา ในการจัดทำกฎ ระเบียบ FSC ไม่ต่างกับการดำเนินการจัดทำ ISO

ทั้งนี้จะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการเป็นจำนวนมาก แต่สหกรณ์ยาง-กลุ่มเกษตรยางพารา ต่างไม่มีเงินทุนจึงดำเนินการได้เพียงปริมาณน้อย “FSC พิจารณาแล้วก็จะไม่ต่างกับการตั้งกำแพงภาษีทางการค้า และไม่ต่างกับการกีดกันทางการค้าเช่นกัน”

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน-การไม่ตัดไม้ทำลายป่า ในประเด็นของสวนยางพาราที่อยู่ในป่าสงวน ป่าวนอุทยาน ป่าชุมชน เกิดทับซ้อนกัน ทางรัฐบาลต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ ให้ทำเอกสารสิทธิรับรองเป็นที่ทำกิน วิธีการนี้จะเป็นทางออกที่ดีได้

ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า มีผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิการใช้ที่ดิน หรือที่เรียกว่า “บัตรชมพู” มาขอขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางเช่นเดียวกับผู้ปลูกยางในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิหรือบัตรเขียวแล้ว เป็นจำนวน 456,061 ราย หรือคิดเป็นพื้นที่สวนยาง 6,437,373 ไร่

ข่าวเด่นบึงกาฬ ล่าสุด

อัพเดทล่าสุด