สทนช. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน โครงการศึกษาแผนบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ สร้างการรับรู้ สู่การดำเนินตามแผน เพื่อประโยชน์สูงสุด
.
วันพุธที่ 23 สิงหาคม 2566 เวลา 09.30 น. ณ โรงแรมเดอะวัน อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ นายชนพหล ส่งเสริม รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาแผนบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ โดยมีนายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายไวทิต โอชวิช ผู้อำนายการกองวิเคราะห์โครงการและงบประมาณ พร้อมคณะที่ปรึกษาโครงการฯ รวมทั้งมีส่วนราชการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำชุมชนกว่า 400 คน ร่วมรับฟังการประชุมฯ ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของการศึกษา เพื่อทำให้ผลการศึกษามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น จากการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม
.
นายไวทิต โอชวิช ผู้อำนายการกองวิเคราะห์โครงการและงบประมาณ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุปะสงค์เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาความเหมาทางด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคมของโครงการฯ และแผนการแก้ไขปัญหา ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทราบอย่างทั่วถึง เพื่อนำไปปรับปรุงรายงานให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยผลการศึกษาโครงการ ได้รวบรวมจากข้อมูลที่ได้รับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน ผ่านเวทีการรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ ได้แก่ การลงพื้นที่ของงานด้านมวลชน การประชุมปฐมนิเทศการประชุมกลุ่มย่อย จำนวน 2 ครั้ง การสนทนากลุ่ม และการลงพื้นที่สำรวจภาคสนามของคณะผู้เชี่ยวชาญของโครงการ ได้ถูกรวบรวมและนำมาศึกษา วิเคราะห์ เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไข บรรเทาปัญหาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจังหวัดบึงกาฬ เช่น ในปัจจุบันจังหวัดบึงกาฬมีการขาดแคลนน้ำทั้งสิ้น 12.331 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 13.943 ล้าน ลบ.ม.ในปี พ.ศ. 2580 หากไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้มีการกำหนดแผนงานขับเคลื่อนไว้มากกว่า 1,200 โครงการ ที่ได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งแผนดังกล่าว จะสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดบึงกาฬ ภายใต้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จนถึงปี 2580
.
นายไวทิต โอชวิช ผู้อำนายการกองวิเคราะห์โครงการและงบประมาณ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนหลักดังกล่าว ได้มีการกำหนดโครงการนำร่อง เพื่อใช้เป็นตัวแบบในการขยายผลของการดำเนินโครงการ ในแต่ละด้านของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยได้พิจารณาโครงการที่มีความพร้อมมากที่สุด และสามารถแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย
1. การวางโครงการเบื้องต้น จำนวน 5 โครงการ
1.1 โครงการก่อสร้างประปาบาดาลร่วมกับน้ำผิวดิน ต.ป่าแฝก อ.พรเจริญ
1.2 โครงการปรับปรุงและพื้นฟูหนองเลิง พร้อมระบบกระจายน้ำ
1.3 โครงการขุดลอกห้วยฮี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรองรับน้ำหลาก
1.4 โครงการจัดทำและบริหารจัดการป่าบุ่ง ป่าทามประดิษฐ์ระดับชุมชนแบบบูรณาการบนฐานความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น พื้นที่บริเวณห้วยน้ำคำไหลออกสู่กุดทิง
1.5 โครงการจัดทำและบริหารจัดการป่าบุ่ง ป่าทามประดิษฐ์ระดับชุมชนแบบบูรณาการบนฐานความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น พื้นที่บริเวณหนองแวงที่รองรับน้ำจากลำห้วยต้องก่อนไหลเข้าบึงโขงหลง
2. และยังมีการศึกษาจัดทำ แผนพัฒนาบึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพ ในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ อีกอำเภอละ 1 แห่ง ได้แก่
2.1 แผนพัฒนาหนองร้อน ตำบลนาดง อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ
2.2 แผนพัฒนากลุ่มแหล่งน้ำหนองแวงยาว หนองวังเดือนห้า หนองขอนยางหัก และหนองไม้หีบ ตำบลศรีวิไล อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ
2.3 แผนพัฒนาหนองเชียงบุญมา ตำบลท่าดอกคำ อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ
2.4 แผนพัฒนาบึงขามเบี้ย ตำบลบุ่งคล้า อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ
2.5 แผนพัฒนาหนองบังบาตร ตำบลชัยพร อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ
2.6 แผนพัฒนาหนองนาแซง ตำบลท่าสะอาด อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ
2.7 แผนพัฒนากลุ่มแหล่งน้ำหนองกุดอ้อ ตำบลหนองหัวช้าง อำเภอพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ
2.8 แผนพัฒนากลุ่มแหล่งน้ำหนองผักชี หนองหญ้าคา หนองปลาเข็ง หนองเนิง ตำบลโซ่ อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ