ป.ป.ช. เชิญผู้ร้องเรียนว่า มี จนท.รัฐ มีส่วนในการทุจริตชุมนุมสหกรณ์ ฯ และการก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางพารา จ.บึงกาฬ เข้าให้ถ้อยคำในเดือนตุลาคมนี้ หลังโรงงานสร้างมา 6 ปีแล้ว แต่ยังใช้งานไม่ได้ ส่วนชุมนุมสหกรณ์ฯถูกยุบต้องขายที่ดินที่ตั้งโรงงานใช้หนี้
โครงการก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางพารา จ.บึงกาฬ ใช้งบประมาณกว่า 170 ล้านบาท แต่กลับสร้างในที่ดินของชุมนุมสหกรณ์ฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ขาดทุน และมีคำสั่งถูกยุบ
ที่ดินแปลงนี้ต้องถูกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ แต่อาคารโรงงานบนที่ดินกลับเป็นทรัพย์สินของกรมธนารักษ์ เรื่องนี้กำลังเป็นปัญหาที่ซับซ้อน อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด
ล่าสุด ป.ป.ช.ประจำ จ.บึงกาฬ อยู่ระหว่างตรวจข้อมูลและเชิญผู้ร้องเรียนว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนในการทุจริตชุมนุมสหกรณ์ ฯ และการก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางพารา เข้าให้ถ้อยคำในเดือน ต.ค.นี้ หลังยื่นหนังสือร้องเรียนเมื่อปลายปี 2565 ซึ่งภาคประชาชนต้านทุจริตมองว่า ต้องติดตามต่อว่าคำร้องนี้จะมีมูลจนนำไปสู่การเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐได้หรือไม่
รายละเอียดหนังสือ ขอเชิญไปให้ถ้อยคำออกโดย ป.ป.ช.ประจำ จ.บึงกาฬ ระบุว่า อ้างถึง หนังสือร้องเรียน ฉบับลงวันที่ 21 พ.ย.2565 จำนวน 1 ฉบับ ตามหนังสือที่อ้างถึง ท่านได้กล่าวหาร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ เป็นผู้มีส่วนในการทุจริตชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางและการก่อสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราของจังหวัดบึงกาฬ
และโรงงานดังกล่าวไม่สามารถใช้งานเครื่องจักรได้เพราะไม่มีไฟฟ้า น้ำประปา และบ่อบำบัดน้ำเสีย จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบทำให้เกิดความเสียหาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.บึงกาฬ มีกรณีจำเป็นจะต้องขอทราบข้อเท็จจริงบางประการจากท่านเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป จึงขอให้ท่านไปให้ถ้อยคำต่อหัวหน้าพนักงานไต่สวนพร้อมคณะ
ส่วนสภาพที่ดินของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จ.บึงกาฬ เนื้อที่ 37 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านตาลเดี่ยว ต.ท่าสะอาด อ.เซกา ปัจจุบันชุมนุมสหกรณ์แห่งนี้ถูกสั่งเลิก หรือถูกยุบเพราะขาดทุน มีหนี้สิน
ก่อนหน้านี้ ที่ดินของชุมนุมสหกรณ์ซึ่งเป็นนิติบุคคล แปลงนี้ถูกนำไปค้ำประกันเงินกู้ จึงต้องขายทอดตลาดตามขั้นตอนการชำระบัญชี หลังชุมนุมสหกรณ์ถูกยุบ แต่ปัญหาที่ยังประกาศขายไม่ได้
คือมีกลุ่มอาคารโรงงานแปรรูปยางพารา 8 หลัง พร้อมเครื่องจักร ที่สร้างด้วยงบประมาณกลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน 173 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2560 ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นทรัพย์สินของกรมธนารักษ์
ขายได้แต่ที่ดิน แต่โรงงานแปรรูปยางพาราเป็นของหลวง ผู้ครอบครองที่ดินรายใหม่อาจต้องยื่นจดสิทธิเหนือพื้นดิน ยินยอมให้โรงงานเป็นทรัพย์สินกรมธนารักษ์
แม้จะเข้าสู่ปีที่ 6 การก่อสร้างโรงงานยังไม่แล้วเสร็จ ไม่มีระบบไฟฟ้าเชื่อมต่อเข้าสู่อาคาร ไม่มีระบบสูบน้ำเพื่อใช้การผลิต และที่สำคัญไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย
เกษตรกรในจังหวัดบึงกาฬ ได้แต่ตั้งความหวังว่าโรงงานแห่งนี้จะสามารถดำเนินกิจการ
อยากให้เปิดรับซื้อน้ำยาสดได้โดยเร็ว เพราะราคาดีกว่ายางก้อนถ้วย และหวังว่าโรงงานแห่งนี้จะทำให้จังหวัดบึงกาฬ เป็นศูนย์กลางแปรรูปยางพารา ตามเป้าหมายของการใช้งบประมาณแผ่นดิน
ไทยพีบีเอสติดตามปัญหาการก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางพารา จ.บึงกาฬ พบข้อมูลปัญหาและความพยามแก้ไขให้โรงงานเดินหน้าต่อได้ ตามลำดับเวลา ดังนี้
-ปี 2560 กลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน อนุมัติงบประมาณกว่า 193 ล้านบาท สร้างโรงงานแปรรูปยางพารา ในที่ดินของชุมนุมสหกรณ์ฯ เพื่อให้ชุมนุมหกรณ์ฯบริหารงาน แก้ปัญหายางพาราราคาตกต่ำ โครงการนี้ ถูกเสนอโดยเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และอนุมัติโดยผู้ว่าฯ บึงกาฬ ขณะนั้น
-ปี 2562 พบว่า ชุมนุมสหกรณ์ฯมีภาระหนี้สินกว่า 7 ล้านบาท ถูกฟ้องร้อง หากไม่ชำระหนี้สิน ที่ดินทั้ง 37 ไร่ ที่มีการสร้างโรงงาน จะถูกยึดเพื่อขายทอดตลาด ไทยพีบีเอสพบข้อมูลว่า ปี 2559 ถึง 2561 ชุมนุมสหกรณ์ฯ ขาดทุน มาโดยตลอด
ข้อมูลที่ระบุว่า ปี 2560 ชุมนุมสหกรณ์ฯ ขาดทุนกว่า 3,500,000 บาท เป็นปีเดียวกับที่ ภาครัฐอนุมัติงบประมาณมาสร้างโรงงาน แต่ครั้งนั้นเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า ชุมนุมสหกรณ์ฯ ขาดทุนเพราะถูกโกง จึงต้องช่วยเหลือให้ดำเนินกิจการได้
-ปี 2563 พบการก่อสร้างล่าช้าพบปัญหาการออกแบบก่อสร้าง อาคารบางจุด ไม่ได้เขียนแบบให้มีการตอกเสาเข็มตั้งแต่แรก แต่เมื่อลงมือก่อสร้างจริง พบปัญหาสภาพพื้นที่ถูกถมดินใหม่ ต้องแก้แบบให้มีการตอกเสาเข็ม และใช้งบประมาณเพิ่ม
การแก้ไขแบบแปลนการก่อสร้าง ทำให้การก่อสร้างล่าช้า โดยเฉพาะการแก้แบบระบบบำบัดน้ำเสีย ทำให้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างไม่ทันตามกรอบระยะเวลา งบส่วนนี้ถูกตัด โรงงานนี้จึงยังไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้าตรวจสอบ และตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดแก้ปัญหา
-ปี 2564 มีการสร้างอาคารโรงงานติดตั้งเครื่องจักรจนแล้วเสร็จ ใช้งบประมาณ 173 ล้านบาท แต่ขาดระบบไฟฟ้า ระบบน้ำ และระบบบำบัดน้ำเสีย หากจะเปิดใช้งานโรงงานได้ต้องใช้งบประมาณอีกกว่า 60 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. ให้ข้อมูลว่า ได้เสนอ ต่อบอร์ด กยท. ให้สนับสนุบงบประมาณ 60 ล้านบาท เพื่อเดินหน้าก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางพาราต่อ แต่ต้องรอแนวทางการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย และอาจให้เอกชนที่เป็น สมาชิก กยท.เช่าโรงงาน
-ปี 2565-2566 ชุมนุมสหกรณ์ฯ ถูกยุบ ที่ดินต้องถูกขายทอดตลาด ตามขั้นตอนกระบวนการชำระบัญชี เจ้าหนี้ที่ประสงค์จะเรียกร้องหนี้ ให้ยื่นคำทวงหนี้โดยทำเป็นหนังสือพร้อมหลักฐานแห่งหนี้ ยื่นต่อผู้ชำระบัญชี สำนักงานสหกรณ์จังหวัดบึงกาฬ
-เจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดบึงกาฬ ทำหนังสือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแนวทางดำเนินการ เนื่องจากเป็นการขายที่ดินของนิติบุคคล แต่จะขายอย่างไรให้ถูกกฎหมาย เพราะมีทรัพย์สินกรมธนารักษ์ตั้งอยู่
-ผู้ที่จะซื้อที่ดินแปลงนี้ ต้องยื่นจดสิทธิเหนือพื้นดิน ข้อนี้ทำให้ตั้งข้อสังเกตุได้ว่า
ผู้ที่จะมาซื้อที่ดิน ต้องเป็นผู้ที่จะเช่าโรงงาน เพราะคนทั่วไปคงไม่มีใครซื้อที่ดินที่มีปัญหาแบบนี้ มีรายงานว่ามีเอกชนรายหนึ่งได้ยื่นความประสงค์จะขอเช่าโรงงานแล้ว แต่ต้องรอความชัดเจนทางกฎหมาย
ข้อมูลจากภาคประชาชนตั้งข้อสังเกตว่า โครงการที่มีปัญหาลักษณะนี้ อาจเกิดจากการเร่งรัดทำโครงการ และขาดการศึกษาที่รอบคอบ ทำให้การออกแบบมีปัญหาส่งผลต่อการก่อสร้างล่าช้า
รวมทั้งขาดการตรวจสอบศักยภาพในการบริหารธุรกิจของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬอย่างละเอียดและโปร่งใส เพราะถูกกำหนดให้เป็นผู้บริหารโรงงานที่สร้างด้วยงบประมาณแผ่นดิน แต่สุดท้ายกลับขาดทุน ดำเนินกิจการไม่ได้ ต้องขายที่ดินซึ่งใช้สร้างโรงงาน เพื่อจ่ายหนี้สินหนี้สิน